เอาใจเราไปใส่ใจเขา วีถีแห่งความกรุณาและหัวใจแห่งการให้การปรึกษา

เอาใจเราไปใส่ใจเขา
(รูปประกอบบทความ มิใช่เหตุการณ์จริง)

คนส่วนใหญ่มักจะคุ้นกับคำว่า “#เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เมื่อไหร่ที่เห็นต่างหรือขัดแย้งหรือพยายามจะเข้าใจผู้อื่น หรือต้องการจะประนีประนอม หรือรอมชอมเรื่องใดๆ ก็มักจะได้ยินคำว่า “ต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือ “ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา” แม้แต่เมื่อไหร่ที่จะบอกผู้อื่นให้รู้จักเข้าใจกัน ก็มักจะพูดว่า “ให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา”

วามจริงประโยคดังกล่าวก็หมายถึงการเข้าใจคุณค่าและความหมายในโลกทัศน์ของผู้อื่นนั่นเอง แต่ความหมายของคำว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นมีมิติของการ”#นำเข้ามาเพื่อตนและตอบสนองตนมากกว่าการให้” เมื่อเป็นวิทยากรอบรมเกี่ยวกับสุขภาพจิตส่วนใหญ่ ผู้เขียนมักจะบอกกับผู้เข้าอบรมว่า “ให้ฝึกเอาใจเราไปใส่ใจเขา” จนผู้เข้าอบรมหลายคนมักจะถามบ่อยๆว่าไม่ค่อยคุ้นกับคำนี้ แต่เมื่อผู้เขียนอธิบายความหมายของภาษาทั้งโดยอรรถ(denotative meening)และโดยนัย(connotative meening)แล้วทุกคนก็เข้าใจ

เอาใจเราไปใส่ใจเขา
(รูปประกอบบทความ มิใช่เหตุการณ์จริง)

การสื่อสารบางประโยคนั้นแม้จะสั้นๆแต่สำคัญต่อการประทับจำไว้ที่สมอง เพราะภาษาที่ถูกฝึกปรือและร่ำเรียนมา จะทำหน้าที่กำหนดทิศทางร่วมกับสัญชาตญาณโดยอัตโนมัติ ดังเช่นคำว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นแหละ ความจริงมีเจตนาจะเข้าใจเขา แต่กลับใส่ภาษาที่มีความหมายให้ไปเอามาจากเขาเพื่อตัวเราเอง จึงเข้าใจยากแต่การ “เอาใจเราไปใส่ใจเขา”นั้น ให้ความหมายโดยนัยเป็นเรื่องของการให้ใจและใส่ใจที่จะไปเรียนรู้เพื่อเข้าใจคุณค่าและความหมายต่างๆในโลกทัศน์ของผู้อื่น

ผู้เขียนเคยแนะนำให้หลายคนอ่านหนังสือเรื่อง “#นักโทษประหาร ตอน นช.โฆสิต” ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ สาขานิติศาสตร์ เป็นวิจัยเชิงคุณภาพที่สัมภาษณ์นักโทษแดนประหาร จำนวน 10 ราย โดยแนะนำให้อ่านโดยเอาใจเราไปใส่ใจเขานั่นแหละ ปรากฏว่าเมื่ออ่านจบ หลายคนจะโทรศัพท์มาแสดงความเห็นต่อผู้เขียนว่ารู้สึกเข้าใจและเห็นใจนักโทษคนดังกล่าวมากๆ และพูดว่า “หากเป็นตัวเราเองเติบโตมาเช่นนั้นและอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นตลอดมาก็อาจประพฤติอย่างเขาก็เป็นได้” ประโยคดังกล่าวสะท้อนความหมายถึงการเข้าใจ เข้าถึงความหมายในโลกทัศน์ของผู้อื่นอย่างลึกซึ้งนั้นเอง นำมาสู่ความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกันได้จริง

การจะเข้าใจเห็นใจเข้าถึงว่าคนอื่นให้คุณค่าและความหมายในโลกทัศน์ของเขาอย่างไรนั้นจะต้องเริ่มจาก #การฟังที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ #ฟังด้วยหูดูด้วยตาจับด้วยใจ คือ เอาใจเราไปใส่ใจเขา คล้ายๆ สวมบทบาทเป็นเขาทั้งความรู้สึกนึกคิดต่างๆ นั่นเอง ขณะตั้งใจฟังและสังเกตอย่างใกล้ชิด หากไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมดังกล่าวมีความหมายถึงอะไรก็ให้ถามเขาไปตรงๆ ด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่สงบและเป็นมิตร เช่น “ที่ลูกไม่พอใจและเสียใจที่แม่ไม่ยอมให้ขับขี่มอเตอร์ไซค์นั้นลูกตีความหมายว่าอย่างไร” เขาตอบว่า “ แม่ไม่ไว้วางใจผมทั้งๆที่ผมโตจนเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายแล้ว เป็นต้น

การเข้าใจคุณค่าและความหมายต่างๆ ในโลกทัศน์ของผู้อื่น ช่วยให้เข้าใจ เห็นใจผู้อื่นได้จริงๆ จึงมีภาษาทางจิตวิทยาเมื่อให้บริการปรึกษาทางสุขภาพจิตว่า “#หากแม้ผมหรือใครๆอยู่ในเหตุการณ์เช่นคุณก็คงรู้สึกไม่ต่างจากที่คุณกำลังรู้สึกนั่นเอง” แต่พบว่าบางคนพูดสักแต่ว่าพูด เพราะไม่เข้าถึงและเข้าใจเขาจริง เหมือนยืนอยู่ห่างๆ แล้วมองเข้าไปยากที่จะเข้าใจเข้าถึง ก็ด้วยประโยคที่ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นแหละ” คงหมายรอให้คนอื่นที่กำลังทุกข์ใจเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือตัวเองนั่นแหละ ใจเขาเลยเข้าไม่ถึง แต่การ “#เอาใจเราไปใส่ใจเขา” #นั้นมีมิติและความหมายที่ก้าวข้ามตัวเองออกไปเพื่อจะช่วยผู้อื่น ให้ความหมายเชิงจิตสำนึกบริการและจิตที่เสียสละสูงกว่าและแสดงความกรุณาทางใจ คือปรารถนาช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์นั่นเอง

หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการเอาใจเราไปใส่ใจเขา คือ #ดำรงอยู่ด้วยสติมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะหวั่นไหวและขาดสติ และรู้สึกเป็นคนเดียวกับคนที่เราปรารถนาจะช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคมาก เพราะจิตไม่ตั้งมั่น “#แต่ต้องเป็นการเข้าถึงเข้าใจในโลกทัศน์ของเขาแต่สติยังเป็นของเราอยู่นั่นเอง” ประโยชน์ของการเอาใจเราไปใส่ใจเขานั้นมีมากมาย ทั้งเป็นการฝึกเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น นำมาสู่ความเป็นผู้วางใจได้ ตลอดจนสร้างมิตรภาพได้อย่างดี

ด้านสุขภาพจิตคือลักษณะหนึ่งของผู้มีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวดีนั่นเอง ส่วนในแง่ของการบำบัดและช่วยเหลือด้านจิตใจนั้น การเข้าไปเข้าใจในคุณค่าและความหมายในโลกทัศน์ของผู้ที่มีปัญหาด้านจิตใจนั้น นอกจากแสดงถึงความเข้าใจ ใส่ใจแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ผู้ให้บริการปรึกษาหรือผู้ช่วยเหลือจะได้ช่วยให้ผู้ที่ไม่สบายใจได้เข้าใจว่า คุณค่าและความหมายที่เขามีอยู่ส่งผลดีผลเสียต่อตัวเขาอย่างไร กระทั่งอาจทำได้ถึงขั้นช่วยเขาปรับมุมมองจากเหตุการณ์เดิมเพื่อให้คุณค่าและความหมายใหม่ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตแก่เขาได้อีกด้วย

ในระดับสังคม หากทุกคนรู้สึกเป็นผู้ที่เอาใจเราไปใส่ใจเขาให้มากๆ จะส่งผลต่อความรู้สึกเข้าใจ เห็นใจซึ่งกันและกัน มีความเมตตากรุณาต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ จิตสำนึกสาธารณะจะเกิดโดยรวมได้ทั้งสังคม กระทั่งช่วยให้เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนให้คุณค่าและความหมายต่อสรรพสิ่งต่างๆ ในชีวิตต่างกัน และยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ด้วยใจที่เป็นธรรมนั่นเอง

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts