เมื่อเผลอใจรักมักจะปักใจช้ำ

#บางคนพลาดเผลอจนเกิดแผลใจเกินจะเยียวยา
#บางคนพลาดท่าแม้เยียวยาแล้วก็เผลอใจได้อีก
#แต่! ผู้ที่ตั้งสติได้ก็กลับใจเป็นปกติ แม้อาจมีความชอกช้ำหลงเหลืออยู่บ้าง ก็เก็บไว้เป็นร่องรอยเพื่อเรียนรู้ต่อไป

#ควรฝึกแยกแยะเนื้อหาออกจากอารมณ์

ลายคนมักถามผู้เขียนว่า”#หนูจะทำอย่างไรดีเมื่อตกหลุมรักและปักใจหลง #ผมจะทำอย่างไรดีที่ชอบเผลอใจรักและปักใจช้ำ” ผู้เขียนมักจะตอบว่า “อ้อ!ก็ดีครับ รักเลยครับไม่ต้องตอนเผลอก็ได้เพราะความรักเป็นความงดงามของโลกและจักรวาล. และมักถามต่อไปว่า “แล้วถ้าเผลอใจรักแล้วส่งผลเช่นไรครับ?”

มักจะได้รับคำตอบว่า #แหม!ก็เมื่อเผลอใจรักทีไรจิตใจก็มักจะหึงหวงโหยหาหวั่นไหวและหวาดหวั่นทุกที ทั้งยังวิตกกังวลจนเป็นทุกข์หนูจึงไม่อยากเผลอใจรักค๊ะ

#เผลอใจรักและรักไม่เป็น มักเป็นของคู่กัน นั่นก็คือเป็นการปล่อยอารมณ์และความรู้สึกชื่นชอบพร้อมทั้งความกำหนัดยินดีในรูปรสกลิ่นเสียงและปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นมาเร้าอารมณ์จนอยากได้ใคร่มี และเป็นการนำความกำหนัดยินดีเชิงสัมพันธ์สวาทเข้ามาปรุ่งแต่งร่วมด้วยอย่างเต็มความคิดและความรู้สึก แล้วมักจะนิยามผิดๆคิดว่านั่นคือ”ความรัก”

#รักไม่เป็นและเผลอใจรัก ก็มักเกิดจากความขาดและพลาดพร่องในความรักมาแต่วัยเยาว์นั่นแหละครับ! #แต่!ก็เรียนรู้และเติมเต็มกันได้ด้วยการฝึกเป็นผู้ให้เสียก่อน โดยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลและเมตตากรุณาต่อสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนฝึกแยกแยะเนื้อหาออกจากอารมณ์และผสมผสานการพัฒนาสติเข้าไปด้วย ก็จะช่วยเป็นแนวทางฝึกหัดพัฒนาความรักได้เป็นอย่างดี แปลกดีนะครับ!การฝึกหัด”รัก”ต้องฝึกจากการให้มิใช่จากการได้จากผู้อื่น

สำหรับความรักในเชิงสัมพันธ์สวาทหรือแบบคู่รักนั้น หากปรารถนาให้รักยั่งยืนทั้งสองฝ่ายพึงต้องเคารพในความแตกต่างของกันและกัน ตลอดทั้งเห็นคุณค่าและความดีงามของกันมากว่าเฝ้ามองแต่ข้อบกพร่องของอีกฝ่าย ตลอดจนสื่อสารด้วยมธุรสวาจาทั้งน้ำเสียงและเนื้อหาในเชิงชื่นชมยินดีแก่กันให้สม่ำเสมอ ทั้งควรรู้จักให้อภัยแก่กัน ตลอดจนมีพันธสัญญาต่างๆต่อกันทุกช่วงวัยชีวิตก็จะช่วยให้ความรักยืนยาวได้นั่นเอง

เมื่อเผลอใจรักมักจะปักใจช้ำ

การพัฒนาความรู้สึกรักอย่างแท้จริงนั้น ควรเป็นความรักแบบผู้ให้ที่ไร้เงื่อนไข เป็นความเมตตากรุณา(compassion)และการเห็นคุณค่า(gratitude)ในตนเองและผู้อื่น ยิ่งเห็นความทุกข์ยากลำบากกายใจใดๆของผู้อื่นมากๆแล้วยิ่งจะช่วยพัฒนาความรู้สึกกรุณาและเข้าใจเห็นใจผู้อื่นยิ่งขึ้น ส่งผลให้อยากช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน เป็นจิตแห่งความกรุณานำมาสู่ความสงบสุขทั้งชีวิตส่วนตัวครอบครัวและสังคมในที่สุด

#ความรักแท้จริง ที่ผสานทั้งทางโลกและทางธรรมนั้นนิยามได้ว่า คือการดูแลเอาใจใส่และเรียนรู้ในสิ่งที่เรารัก(care and study)อย่างไร้เงื่อนไขและสม่ำเสมอ กระทั่งปรารถนาให้สิ่งที่เรารักเป็นสุขและพ้นทุกข์ในที่สุด ดังนั้นหากเข้าใจและเข้าถึงจะซาบชึ้งในความรักเป็นอย่างดีและจะ”#ตั้งใจรัก” โดยมิต้องเผลอใจรักอย่างไร้สตินั่นเอง

นั่นคือส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างผู้เขียนและกัลยาณมิตรท่านหนึ่งที่มาปรึกษาสุขภาพจิตเกี่ยวกับชีวิตรัก ก่อนที่ผู้เขียนจะให้ยืมหนังสือ”คู่มือถอนพิษรัก” ไปอ่านต่อที่บ้าน

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบสหศาสตร์, ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok, กรรมการบริหารและประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง, Best Practice Award 2017 สาขาวรรณกรรมเพื่อส่งเสริมสังคม

Recommended Posts