วิธีเสริมพลังเด็กหลังห้องเรียน

“พวกผมไม่ใช่กลุ่มนักเรียนอันเป็นที่รักและปลาบปลื้มของคุณครูสักเท่าไหร่ครับ” นั่นเป็นคำพูดของนักเรียนหลังห้องเรียนคนหนึ่ง ที่บอกกับผู้เขียนเมื่อครั้งไปเป็นที่ปรึกษาช่วยกิจการนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง คำว่า”เด็กหลังห้องเรียน” อาจมีความหมายหลากหลายตามแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มจะให้ความหมายแตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ที่ต่างกัน เช่นอาจหมายถึงเด็กค่อนข้างเกเร เด็กไม่ขยันเรียน เด็กขาดความมั่นใจ หรืออื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มเด็กหลังห้องเรียนในความหมายของคุณครูและเพื่อนๆมักมองว่าเขามีลักษณะพิเศษที่ค่อนข้างไปในทางที่ไม่เป็นคุณ

classroom

แต่ในปรัชญาแบบมนุษยนิยม(humanism)นั้นมองว่า ความเป็นมนุษย์และความเป็นวัยรุ่นทุกคนนั้นต่างก็มีคุณค่าและพัฒนาได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเด็กๆหรือวัยรุ่นในมุมใดของห้องเรียนและในสังคมนี้เลย กระทั่งหากเด็กและวัยรุ่นเหล่านั้นได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมถูกต้องเขาก็จะเกิดแรงบันดาลใจ ตั้งไจเรียน ทำความดี จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานในทางที่ดีงามและสร้างสรรค์แก่สังคมได้มากมาย ดังนั้นคุณครูทุกคนควรดำรงวิชาชีพโดยใช้ปรัชญามนุษยนิยมอย่างแข็งแกร่งอยู่ในระบบคิด

จากการที่น้องเป้ย นายฤทธิพันธุ์ วิจิตรพร ตำแหน่งทูตความดีแห่งประเทศไทยซึ่งในอดีตเขาเคยเป็นหัวหน้าแก๊งเด็กกลุ่มเกเรมาก่อน และเกิดแรงบันดาลใจกลับใจเป็นคนดีและเป็นแกนนำวัยรุ่นเหล่านั้นให้หันมาทำความดีจนเป็นที่ประจักษ์ในสังคม ได้ทำโครงการสัมมนาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กหลังห้องเรียนกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และได้เดินทางไปจัดสัมมนาเฉพาะเด็กกลุ่มหลังห้องเรียนในโรงเรียนต่างๆประมาณ 30แห่ง พบว่าเด็กหลังห้องเรียนเหล่านั้นบอกว่า เขาไร้เป้าหมายในชีวิต ไร้เป้าหมายในการเรียน ไร้ความภาคภูมิใจ ไร้โอกาสในการที่จะสานสัมพันธ์กับคนอื่น และเขาเชื่อว่าเขาไม่เป็นที่รักของคุณครูเฉกเช่นเด็กกิจกรรมและเด็กกลุ่มที่ขยันเรียน

ในทางสุขภาพจิตนั้นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า เด็กหรือวัยรุ่นที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตกับเด็กและวัยรุ่นที่ป่วยด้านจิตเวชนั้นเป็นคนละประเด็น ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตคือคนที่ไร้ความภาคภูมิใจ ปรับตัวยากลำบาก มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว ซึมเศร้าหรือวิตกกังวลสูงจนกระทั่งไม่สามารถปรับตัวในการดำรงชีวิตได้ หรือมีชีวิตอยู่ไปวันวันอย่างไร้จุดมุ่งหมาย ไร้ความหวัง กระทั่งคิดและรู้สึกได้ว่าตนเองไม่เป็นที่รักและที่ไว้วางใจของผู้อื่น ซึ่งก็สอดคล้องกับลักษณะของเด็กกลุ่มหลังห้องเรียนส่วนหนึ่งนั่นเอง

ดังนั้นแนวทางการช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นหลังห้องเรียนที่อาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตดังที่กล่าวมา คุณครูและเพื่อนๆในชั้นเรียนสามารถช่วยสนับสนุนให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ มีเป้าหมายในชีวิตและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนเอื้ออำนวยให้เขาได้เรียนรู้หรือทำกิจกรรมนันทนาการที่เขาถนัดและชื่นชอบ จะเป็นการสนับสนุนให้เขาเกิดความภาคภูมิใจและมีความมั่นใจในตนเองได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

1) ชวนนักเรียนตั้งเป้าหมายในชีวิต การที่คนเรามีเป้าหมายในชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาวนั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยสร้างกำลังใจให้กับทุกๆคน ที่จะมุ่งมั่นฝันฝ่าเพื่อให้ตนเองประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งใจไว้ ด้วยทฤษฎีแรงจูงใจของแมคเคลแลนด์อธิบายไว้ว่ามนุษย์ทุกคนต้องการความสำเร็จในชีวิต และความต้องการความสำเร็จนั้นจะสัมพันธ์กับการตั้งเป้าหมายในชีวิตทั้งระยะสั้นและระยะยาวนั่นเอง ดังนั้นการสนับสนุนให้เด็กและวัยรุ่นตั้งเป้าหมายในชีวิต จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เขามีพลังใจในการเรียนและการดำรงชีวิตต่อไป

2) สนับสนุนให้นักเรียนรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างพลังสุขภาพจิต คุณครูสามารถสนับสนุนให้เขามีความภาคภูมิใจในตนเองได้โดยรู้จักชื่อนามสกุลของเขาและหมั่นเรียกขานหรือทักทายเขาอย่างสม่ำเสมอ สนับสนุนให้เขาได้แสดงออกในสิ่งที่เขาถนัดและชื่นชอบ กระทั่งเปิดโอกาสและชี้ชวนให้เขาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆทั้งระหว่างนักเรียนด้วยกันและคุณครูและกิจกรรมโดยรวมของโรงเรียน ซึ่งจะช่วยให้เขาเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองยิ่งขึ้น

3)หมั่นชื่นชมยินดีในคุณงามความดีต่างๆที่เขาได้ทำอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือคุณครูควรค้นหาคุณงามความดีของเด็กและวัยรุ่นแต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป และนำความดีที่ค้นพบกลับไปชื่นชมยินดีแก่เขา โดยเน้นย้ำให้เขาเห็นว่าประเด็นไหนที่คุณครูชื่นชมและเป็นแบบอย่างที่ดี เด็กและวัยรุ่นก็จะได้เรียนรู้และประทับจำในสิ่งนั้นยิ่งขึ้น จะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้สึกได้ว่ามีคุณค่าและเป็นที่รักของคุณครู ดังที่วัยรุ่นคนหนึ่งบอกว่า “แค่คุณครูขอให้ผมช่วยยกของไปไว้ในห้องเรียนกล่าวขอบคุณและชื่นชมผมก็รู้สึกว่ามีคุณค่าในสายตาของคุณครูแล้วครับ”

4) ควรจัดให้มีการปรึกษาในเชิงจิตวิทยาเป็นพิเศษในเด็กและวัยรุ่นหลังห้องเรียน เพราะว่ากลุ่มเหล่านี้มักจะมีปัญหาพื้นฐานต่างๆมาจากครอบครัว ดังนั้นการที่คุณครูได้รู้ประวัติความเป็นมาโดยละเอียดในครอบครัวของเขา จะเป็นข้อมูลที่สามารถให้การช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นเหล่านี้เชิงลึกได้ จากประสบการณ์ผู้เขียนพบว่าเด็กและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาการเรียนและการปรับตัวนั้น มีสาเหตุเชิงลึกมาจากการเลี้ยงดูและปฏิสัมพันธ์ต่างๆ จากครอบครัวของเขาที่อยู่ในสภาวะไม่ปกตินั่นเอง

ดังนั้นหากคุณครูทุกท่านมองเด็กและวัยรุ่นที่ตนเองรับผิดชอบสอนอยู่ด้วยปรัชญาแบบมนุษยนิยม นั่นคือมองว่าทุกคนมีคุณค่าและพัฒนาได้ กระทั่งสนับสนุนให้เขารู้สึกดีและมีคุณค่าในสายตาของคุณครู ตามหลักการสี่ข้อที่กล่าวมา ก็จะสามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตและการปรับตัวให้กับเด็กและวัยรุ่นหลังห้องเรียนให้ประสบความสำเร็จและเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมในที่สุด

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบัน Wuttipong Academy และสถาบันจิตเกษมเพื่อการพัฒนาคุณภาพจิตและการจัดการเชิงคุณภาพ และกรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts