ความทรงจำดีดีของคุณครูกับหนูนา

rat-doll

ครูครับเอาหนูไหมครับ” “ครูครับเอาหนูไหมครับ” “ครูครับเอาหนูไหมครับ” นั่นคือเสียงร้องเรียกของลูกศิษย์เด็กชายวัยประถมศึกษาคนหนึ่งที่หน้าบ้านพักครูของโรงเรียนอันไกลโพ้นซึ่งต้องเดินทางด้วยเท้าจึงจะถึงโรงเรียน เป็นเสียงเรียกคุณครูเป็นประจำในทุกๆตอนเย็นและวันหยุดสุดสัปดาห์ ครั้งแรกคุณครูบรรจุใหม่ตกใจมากกับเสียงร้องเรียกของนักเรียนคนดังกล่าว แต่ภายหลังคุณครูก็ตอบตกลง “เอาหนู” ทุกครั้งที่ลูกศิษย์ตะโกนถาม

rat

#ครั้งหนึ่งคุณครูเห็นลูกศิษย์คนดังกล่าวอุ้มน้องสาวตัวเล็กและผอม มาขออนุญาตลาครึ่งวันเพื่อพาน้องไปโรงพยาบาล เมื่อครูถามว่าน้องป่วยเป็นอะไรแล้วทำไมไม่ให้คนอื่นพาไปลูกศิษย์คนดังกล่าวก็เงียบไม่ได้ตอบใดใด คุณครูจึงไปถามครูคนอื่นที่เคยสอนเด็กคนดังกล่าวมาก่อนจึงทราบว่าลูกศิษย์คนดังกล่าวและน้องสาวที่พึ่งจะเดินได้นั้น ทั้งสองคนติดเชื้อเอชไอวีมาแต่กำเนิดและพ่อแม่ก็ได้เสียชีวิตหมดแล้ว อาศัยอยู่กับยาย และทุกๆเดือนทั้งสองคนก็ต้องไปพบหมอ ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอเพื่อตรวจสุขภาพและรับยาต้านเชื้ออยู่เป็นประจำ

ลูกศิษย์วัยประถมคนดังกล่าวต้องเรียนหนังสือไปด้วยช่วยยายทำงานไปด้วย และดูแลน้องสาวไปด้วยขณะเดียวกัน โดยเฉพาะการพาน้องไปโรงพยาบาลนั้นเป็นหน้าที่ประจำที่ต้องทำทุกๆเดือนซึ่งคุณครูท่านอื่นของโรงเรียนทราบกันอยู่แล้ว แต่เนื่องจากคุณครูประจำชั้นท่านนี้ไปบรรจุใหม่ จึงไม่ทราบประวัติของลูกศิษย์โดยละเอียดเท่านั้นเอง นอกจากนั้นหน้าที่ประจำของลูกศิษย์คนดังกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือต้องช่วยยายหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการจับหนูนาเพื่อนำมาขายนั่นเอง

คุณครูเป็นคนกรุงเทพมหานครตลอดชีวิตตั้งแต่เล็กจนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัยไม่เคยรับประทานหนูนาเลย แต่เต็มใจซื้อหนูนาทุกครั้งที่ลูกศิษย์ตะโกนนำมาขายให้กระทั่งเก็บหนูนามัดใส่ถุงพลาสติกไว้อย่างดีแล้วแช่ไว้ในตู้เย็นจนล้นตู้ วันหนึ่งภารโรงของโรงเรียนเดินผ่านมาจึงได้บอกกับภารโรงว่ากรุณานำหนูนานี้ไปทำกับข้าวด้วยเถิด จะทำอะไรก็ทำไป แต่ครูไม่รับประทานนะ เพราะว่ารับประทานไม่เป็น

พอถึงเวลาอาหารเย็นปรากฏว่าภารโรงก็ตะโกนบอกคุณครูว่า คุณครูครับ เอาหนูนาผัดกระเพราไหมครับ คุณครูนึกอยากลองชิมขึ้นมาจึงรับผัดกระเพราหนูนามารับประทานเป็นอาหารในมื้อเย็นวันนั้น ปรากฏว่ารสชาติของผัดกระเพราหนูนานั้น เอร็ดอร่อยไม่ต่างจากผัดกระเพรากบเลย จากนั้นมาคุณครูก็เริ่มรับประทานหนูนาได้ในขณะที่สอนอยู่ที่โรงเรียนประชาบาลแห่งนั้นจนกระทั่งย้ายเข้ามาสอนโรงเรียนในเขตเมือง

คุณครูเคยจะให้เงินลูกศิษย์คนดังกล่าวหลายครั้ง แต่เขาปฏิเสธที่จะรับ หากเงินนั้นมิได้มาจากการทำงานหรือได้ช่วยเหลือคุณครู ภายหลังคุณครูจึงแกล้งทำให้บ้านพักครูรกรุงรังและจานชามต่างๆก็ไม่ได้ล้าง เมื่อลูกศิษย์คนดังกล่าวมาขายหนูนาแล้วถามคุณครูว่าเหตุใดบ้านครูจึงรกจังเลย คุณครูก็ตอบไปว่าครูไม่ค่อยมีเวลาทำความสะอาดขอให้เธอมาช่วยคุณครูหน่อยได้ไหมแล้วคุณครูจะให้เงินตอบแทน ปรากฏว่าลูกศิษย์คนดังกล่าวตอบตกลง

วัฏจักรเสียงร้องเรียก “ครูครับวันนี้เอาหนูไหมครับ” และคุณครูก็เอาหนูทุกครั้งที่ลูกศิษย์นำหนูมาขายให้ และคุณครูก็เริ่มรับประทานหนูนาเป็น กระทั่งลูกศิษย์คนนี้ก็มาช่วยทำความสะอาดบ้านพักครูและล้างจานชามต่างๆเป็นประจำในวันหยุดสุดสัปดาห์ จนกระทั่งครบสองปีคุณครูก็ได้ทำเรื่องย้ายเข้ามาสอนโรงเรียนในเขตเมือง เป็นอันสิ้นสุดห่วงเวลาดีดีระหว่างคุณครูกับลูกศิษย์ขายหนูนา

จากครูบรรจุใหม่ในโรงเรียนประชาบาลอันไกลโพ้นจนกระทั่งย้ายมาสอนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในเมืองและเป็นครูระดับชำนาญการพิเศษในปัจจุบัน วันหนึ่งคุณครูเห็นชื่อนามสกุลใครสักคนหนึ่งในเฟสบุ๊คที่คุ้นเคย จนในที่สุดก็จำได้ว่านั่นคือชื่อและนามสกุล ของลูกศิษย์ที่เคยมาตะโกนขายหนูนาให้เป็นประจำในช่วงแรกที่บรรจุเป็นครู เวลาผ่านไปประมาณ30ปีลูกศิษย์คนดังกล่าวยังมีชีวิตเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีการงานทำอย่างมั่นคง และแล้วคุณครูและลูกศิษย์ขายหนูนาจึงนัดพบกัน

เป็นการนัดพบกันที่เต็มไปด้วยความซาบซึ้งยินดีทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะคุณครูที่ดีใจวต่อลูกศิษย์คนดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่ มีงานทำที่มั้นคงและได้ทำหน้าที่ดูแลทั้งยายและน้องสาวเป็นอย่างดี กระทั่งได้รู้ด้วยว่าปัจจุบันการติดเชื้อเอชไอวีนั้นหากรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอสามารถจะดำรงชีวิตได้อย่างปกติเฉกเช่นคนทั่วไป

นั่นคือเรื่องราวที่คุณครูท่านหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อครั้งที่ไปเป็นวิทยากรอบรมเรื่อง การพัฒนาบุคลิกภาพและวิธีคิดแบบจิตอาสาสำหรับวิชาชีพครู ในหัวข้อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเรื่อง “#ความทรงจำดีดีที่ชื่นใจ”
#ความทรงจำดีดีที่ชื่นใจในทุกวิชาชีพนั้นคือเกรียวใจสำคัญที่จะนำมาสู่ความผูกพันในวิชาชีพและองค์กร นั่นคือการเห็นคุณค่าของวิชาชีพที่ทำแล้วได้ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้เขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้นและอยู่เย็นเป็นสุขนั่นเอง

แล้ววันนี้คุณมีความทรงจำดีดีที่ชื่นใจกันบ้างไหม มาค้นหากันเถอะครับ และนำมาแชร์ต่อกัน นั่นคือการแบ่งปันความรู้สึกดีดีที่พึงมีในสังคม
#อนึ่งการหมั่นใคร่ครวญและค้นหาความทรงจำดีดีที่ชื่นใจนั้น ส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจในชีวิตได้เป็นอย่างดี กระทั่งยังเป็นเครื่องมือในการคานอำนาจความคิดลบของตัวเราได้ ส่งผลต่อการป้องกันภาวะซึมเศร้าได้อีกแนวทางหนึ่ง

อ.ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts