เป็นยิ่งกว่าจิตบริการ (Proservice mind) ณ ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

13-children

จากกรณีที่นักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชรวม 13 คนติดอยู่ในถ้ำหลวงคุณน้ำนางนอนอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายนั้น ทั้งภาคราชการเอกชนและองค์กรต่างๆ รวมทั้งวงการศาสนาปรัชญาและอภิปรัชญาต่างมุ่งตรงมาให้ความช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำทั้ง 13 คนด้วยรูปแบบต่างๆ รวมถึงองค์กรจากหลายประเทศทั่วโลกนั้น ทำให้เห็นความร่วมมือร่วมใจของคนในประเทศที่ต่างก็มีความห่วงใยใส่ใจและปรารถนาดีต่อทั้งผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำและผู้ที่กำลังให้ความช่วยเหลืออย่างยิ่งยวด

มื่อได้เห็นคณะทำงานอาสาสมัครดำน้ำลุยโคลนและมีความพยายามอย่างยิ่งยวดครั้งแล้วครั้งเล่าภายในบริเวณถ้ำอันมืดมิดและเต็มไปด้วยความหนาวเย็น พร้อมทั้งทีมสนับสนุนอื่นภายนอกถ้ำ จนกระทั่งผลัดเปลี่ยนกันเป็นชุดๆออกมาพักผ่อนโดยไม่ลดละความพยายาม กระทั่งฝ่ายอื่นๆก็ได้หาแนวทางที่จะเข้าไปช่วยทั้งทางบกและทางอากาศ ปรากฏการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นความ “#เป็นยิ่งกว่าการทำความดี”หรือ #เป็นยิ่งกว่าจิตบริการ”หรือ” #เป็นยิ่งกว่าจิตอาสา”

service

การที่ผู้เขียนใช้คำว่าเป็นยิ่งกว่านั้น เนื่องจากในแวดวงการบริการมักจะพูดเพียงจิตบริการในลักษณะผิวเผินเพียงการกุลีกุจอในการช่วยเหลือเกื้อกูลเรื่องพื้นๆและให้คำแนะนำต่อผู้รับบริการเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ผิดแต่ประการใด แต่การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำครั้งนี้อยากเชิญชวนให้องค์กรต่างๆที่ให้ความสำคัญเรื่องการบริการหันมามองว่า #การบริการที่เป็นยิ่งกว่าจิตอาสาหรือจิตบริการที่แท้จริงนั้นต้องทุ่มเทมุ่งมั่นฟันฝ่าด้วยใจที่เสียสละ และก้าวข้ามความสะดวกสบายของตนเองเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นเป็นประการสำคัญ #กระทั่งเห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นให้มีความสุขและพ้นทุกข์นั้นเป็นความสูงส่งทรงคุณค่าของชีวิต ซึ่งผลลัพท์คือความอิ่มเอิบเบิกบานในที่สุด

จิตอาสาหรือจิตบริการนั้นเป็นความคิดและความรู้สึกที่ต้องก้าวข้ามตัวตนของตัวเองออกไป เพื่ออาสาดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลและปกป้องคุ้มครองผู้อื่น หมายรวมทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ดังนั้นจึงเป็นจิตแห่งการเสียสละและจิตที่เปี่ยมคุณธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีการฝึกฝน เพราะโดยสัญชาตญาณของมนุษย์นั้นจะรักตัวกลัวตายกลัวอายอดและกลัวคนอื่นได้ดี ส่วนจิตอาสาและจิตบริการนั้นจำเป็นต้องฝึกตั้งแต่เด็กและลงมือทำงานจิตอาสาเรื่อยๆตลอดชีวิตจึงจะปลูกฝังให้กลายเป็นยิ่งกว่าจิตอาสาที่มั่นคงถาวร

การจะเป็นยิ่งกว่าจิตอาสาได้อย่างแท้จริงนั้น #หัวใจสำคัญคือต้องมองเห็นทุกๆชีวิตว่ามีคณค่าอย่างยิ่งยวด จึงจะอยากช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์ด้วยความเคารพ ดั่งบาลีที่ว่า ทุกฺขิตสฺส สกฺกจฺจํ กโรต กิจฺจํ และจำเป็นต้องมีหลักกำกับความคิดให้มีจิตอาสาหรือจิตบริการ หลักคิดนั้นก็คือ 1) #ก่อนให้ใจเบิกบาน 2)#ขณะให้ใจสำราญ 3)#หลังให้ใจยินดี เป็นการปีติยินดีอยู่ทุกขณะจิตเมื่อช่วยเหลือใครๆและใดๆ และยินดีในผลลัพธ์ที่ได้ทำการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มิใช่ยินดีในผลตอบแทนที่จะได้รับจากการกระทำนั้นๆ กล่าวคือเมื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้มีสุขและพ้นทุกข์แล้วควรมีความปีติยินดีโดยไร้การหวังผลตอบแทนเชิงวัตถุธรรม

การช่วยเหลือผู้อื่นนั้น”#ยิ่งให้ก็ยิ่งได้”#เป็นความอิ่มเอิบเบิกบานใจและปิติยินดีซึ่งเป็นการได้รับในทางอริยธรรม และจะส่งผลต่อการให้ได้รับในเชิงวัตถุธรรมทางโลกเช่นกัน #ซึ่งการกระทำเช่นนี้ต้องไม่หวังผลวัตถุธรรมทางโลกก่อน #ต้องหวังแต่ให้ผู้อื่นพ้นทุกข์และเปี่ยมสุขเท่านั้น ส่วนการได้รับผลตอบแทนในเชิงวัตถุธรรมนั้นเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่ได้สร้างขึ้น ในระดับอภิปรัชญานั้นมักจะพูดกันว่าเป็น #กฏแห่งกระจก นั่นคือทำสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น ทำความดีก็ได้แต่สิ่งดีดีทั้งทางโลกและทางธรรมตอบแทนนั่นเอง

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านให้ศึกษากรณีการช่วยเหลือเยาวชนและโค้ช 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายในครั้งนี้ให้เห็นว่า นี่แหละคือจิตอาสาและจิตบริการอย่างแท้จริงที่ผู้เขียนใช้คำว่า #เป็นยิ่งกว่าจิตอาสาและจิตบริการ หากทุกๆสรรพชีวิตในประเทศไทยและบนโลกใบนี้เปี่ยมด้วยความเป็นยิ่งกว่าจิตอาสาเมื่อไหร่แล้วเมื่อนั้นโลกจะเต็มไปด้วยสันติสุขแน่นอน

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts