ความอบอุ่นใจ สร้างได้อย่างไร?
รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อไปกับครอบครัว, รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อไปทำงานกับทีม, รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล, รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อใช้บริการกับบริษัทเดิม, รู้สึกอบอุ่นใจที่ได้ทำประกันภัยและประกันชีวิตแล้ว, รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อนั่งสวดมนต์อยู่ในห้องพระ, รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อไปโบสถ์วันอาทิตย์, รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อเดินทางด้วยสายการบินประจำ, รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อฝึกว่ายน้ำกับพี่เลี้ยงคนนี้, รู้สึกอบอุ่นใจเมื่อไปโรงเรียน ฯลฯ
นั่
นเป็นตัวอย่างที่เรามักได้ยินคุ้นหูอยู่เป็นประจำในเรื่องของความอบอุ่นใจ คำว่า “#อบอุ่นใจ” เป็นคำไทยๆ ของเราที่มีความหมายเป็นนามธรรมมาก เป็นความหมายของความรู้สึกที่ใกล้เคียงกันกับหลายคำ เช่น ความรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลายใจและไว้วางใจ เป็นต้น โดยมีความสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยบางอย่าง ดังตัวอย่างจากคำกล่าวในวรรคแรกของบทความ
ความอบอุ่นใจเป็นความรู้สึกทางบวก (Positive Feeling) อย่างหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึก ทางลบ (Negative Feeling) เช่น ความวิตกกังวล ความหวาดระแวง ความเคลือบเคลงใจ เป็นต้น
ความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นความรู้สึกที่ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางใจ และสัมพันธ์กับเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจบางอย่างที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน อาจเป็นได้ทั้งบุคคล เช่นพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูง สิ่งมีชีวิตอื่นๆเช่นสัตย์เลี้ยงที่ตนเองรักและชื่นชอบ หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ เช่นเครื่องรางของขลัง รูปเคารพต่างๆ ไปจนถึงความเชื่อและหลักธรรมทางศาสนา ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีเครื่องยึดเหนี่ยวที่ต่างกันแต่ที่เหมือนกันก็คือความรู้สึกอบอุ่นใจนั่นเอง
ความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นรากฐานทางความรู้สึกที่พัฒนาไปสู่ความอิ่มเอิบใจ ซึ่งเป็นพลังทางสุขภาพจิตที่เข้มแข็งยั่งยืนเป็นภูมิต้านทานปัญหาทางจิตและชีวิตทุกรูปแบบ ภาวะที่คนเราอิ่มเอิบใจนั้นเป็นภาวะปีติยินดีสงบสุขจากภายในจิตใจ ซึ่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่าเอ็นดอร์ฟินจะหลั่งออกมามาก มนุษย์จึงรู้สึกปีติสุขและอิ่มเอิบเบิกบานใจมั้นใจและไร้ความกังวลในที่สุด ความอบอุ่นใจสามารถสร้างได้ด้วย3หลักการดังนี้
1. #แสวงหาใครสักคนและสักกลุ่มที่เชื่อมั่นได้ว่ารักและจริงจังจริงใจต่อเราจริงๆแม้ในยามยากเข็น การมีใครสักคนหรือสักกลุ่มดังกล่าวนี้จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้คนเราเกิดความอบอุ่นใจ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดีหรือร้ายใดๆ ก็เชื่อมั่นว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่เคียงข้างเราเสมอนั่นเอง อาจเป็นพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน องค์กรต่างๆ ทั้งชมรม สมาคม สโมสร หมายรวมไปถึงองค์กรทางสังคมที่ช่วยเหลือบุคคลในยามทุกข์ยาก เช่น บ้านพักใจ มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรี เป็นต้น
2. #การมีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน สืบเนื่องจากข้อหนึ่งจะนำมาสู่การสร้างและมีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนต่อกันทั้งในยามปกติและยามทุกข์ยากลำบากกายใจ มิติของการมีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนนี้เป็นการขยายข้อหนึ่งออกมาให้เป็นพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการสานสัมพันธ์ทั้งในลักษณะของการไปมาหาสู่และร่วมกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตร่วมกันที่แสดงออกในลักษณะของการช่วยเหลือเกื้อกูลและชื่นชมยินดีต่อกันอย่างสม่ำเสมอ
3. #มีเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจที่ไร้ตัวตน การมีเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจที่ไร้ตัวตนในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มิใช่บุคคลแต่เป็นบางสิ่งบางอย่างที่แต่ละคนนับถือ อาทิ พระพุทธเจ้า พระผู้เป็นเจ้า พระธรรม ทวยเทพเทวดา เป็นต้น เช่นบางคนไปนอนค้างคืนในที่เปลี่ยวและน่ากลัวก่อนนอนจะสวดมนต์ไหว้พระหรือสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า ทั้งยังมีพระเครื่องหรือไม้กางเขนคล้องคอไว้จะช่วยให้รู้สึกอบอุ่นใจยิ่งขึ้น และที่ลึกซึ้งที่สุดคือการศึกษาวิทยาการด้านศาสนาปรัชญาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งใช้หลักธรรมในศาสนาที่แต่ละคนนับถือนั้นมาเป็นเครื่องมือทางความคิดในการดำรงชีวิต จะช่วยให้เกิดความอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี ดังมีคำกล่าวว่า”มีธรรมะเป็นเครื่องอยู่”นั่นเอง
หลักการทั้ง 3 ข้อ ที่กล่าวมานั้น เป็นการนำเสนอจากมุมมองเพื่อแสวงหาแก่ตนและให้ได้สิ่งนั้นมาเพื่อสนับสนุนตน แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ซึ่งในทางตรงกันข้าม ตัวเราเองก็ควรเป็นใครสักคนให้คนอื่นรู้สึกว่าเรารักและจริงจังจริงใจต่อเขาจริงๆแม้ในยามยากเข็น และตัวเราเองก็พึงเป็นสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนแก่ผู้อื่นด้วยการเป็นที่รักและศรัทธาและไว้วางใจได้ในความรู้สึกของผู้อื่นด้วยเช่นกัน
หากทุกๆ คนทำได้ทั้งสามประการณดังกล่าว #เมื่อนั่นเราทั้งหลายต่างคนก็ต่างจะเป็นเหตุปัจจัยเพื่อสร้างความอบอุ่นใจซึ่งกันและกันได้ทั้งสังคม และสังคมก็จะเป็นสังคมที่รู้สึกมั่นคงปลอดภัย ไร้กังวลและไว้วางใจได้ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความรู้สึกอบอุ่นใจที่มีให้แก่กัน จะพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และสังคม นำมาสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นรุ่งเรืองดีงามยิ่งๆ ขึ้นนั่นเอง