คุณเป็นคนคิดบิดเบือนหรือคิดบวก  ลองสำรวจตนเองและผู้อื่นดูครับ

ลายท่านอาจสงสัยว่า ความคิดที่บิดเบือนไปจากความคิดบวกนั้นเป็นอย่างไร และอาจเคยอ่านและเคยฟังเรื่องการคิดบวกมามากมายแล้ว แม้ผู้เขียนเองก็เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องคิดบวกไปจนถึงความรู้สึกบวกไว้ในหนังสืออยู่หลายเล่ม กระทั่งเคยนิยามและสร้างเกณฑ์ของการคิดบวกไว้ห้าประการด้วยกัน นั่นคือต้องเป็นความคิดที่ “#มีสติมีสมาธิสร้างสรรค์สร้างมิตรและสมเหตุผล” แต่สำหรับการเขียนบทความในครั้งนี้จะนำเสนอหลักการปรับความคิดที่บิดเบือนให้เป็นการคิดบวกเพื่อส่งเสริมพลังใจแก่ทั้งตนเองละผู้อื่น

เรื่องเล็กๆนิดเดียวแค่นี้แก้ไขได้เสมอ
เราช่วยกันหาทางปรับปรุงแก้ไขได้

ความคิดที่บิดเบือนในที่นี้มาจากเอรอนเบค (Aaron T.Beck) ซึ่งถือว่าเป็น เจ้าพ่อแห่งทฤษฏีการปรับความคิดและพฤติกรรมบำบัด (cognitive behavioral therapy :CBT) ชื่อดังแห่งวงการสุขภาพจิตท่านหนึ่ง ซึ่งได้เขียนเกี่ยวกับความคิดที่บิดเบือนที่ส่งผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้าไว้ 12 ประการ กล่าวคือ #เป็นการคิดที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงและความสงบสุขในใจตนนั่นเอง แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอแค่เพียง5ประการเท่านั้น นั่นคือ

คุณเป็นคนคิดบิดเบือนหรือคิดบวก  ลองสำรวจตนเองและผู้อื่นดูครับ

การตีตราตนเองและผู้อื่น

เช่น #เธอเป็นคนขี้เกียจฉันเป็นคนขี้แพ้ขี้แยขี้โรคหรืออื่นๆอีกมาก ตามประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนที่เติบโตขึ้นมา การคิดเช่นนี้จะส่งผลให้คนเรารู้สึกไร้คุณค่าและไร้พลังใจ อันเกิดจากการถูกตีตราทั้งตนเองและผู้อื่นนั่นเอง ดังนั้นเมื่อจะบิดความคิดให้เป็นบวกก็ต้องเลิกตีตราตนเองและผู้อื่นในทางลบแต่ให้กลบด้วยการชื่นชมในเรื่องดีๆขึ้นมาแทนที่เช่น “ฉันและคุณเป็นคนขยันเป็นคนดีเป็นคนเก่งและเป็นคนอดทน” เป็นต้น

พบเรื่องแย่ขยายใหญ่พบเรื่องภูมิใจขยายเล็ก

การคิดเช่นนี้จะทำให้จิตบิดเบือนไปจากความภาคภูมิใจในชีวิตและสะสมแต่เรื่องแย่ๆไว้ในสมอง เช่น “#วันนี้ทำงานได้ดีแต่มิได้หมายความว่าจะดีทุกวัน”เป็นต้น ต้องบิดความคิดด้วยการขยายความรู้สึกยินดีปรีดาต่างๆที่สำเร็จดีงามและภูมิใจให้ขยายใหญ่ขึ้นในความรู้สึก เช่น “#ดีใจจังเลยที่วันนี้ทำงานได้สำเร็จ” เป็นต้น และควรคิดเช่นนี้กับทุกๆเรื่องและทุกกิจกรรมในชีวิตอย่างสม่ำเสมอ

ไม่พึงพอใจในสิ่งดีที่มีอยู่ แต่ให้ความสำคัญกับสิ่งไม่ดีมากกว่า

ความคิดที่บิดเบือนเช่นนี้จะส่งผลทำให้พลังใจตกต่ำได้ เช่น “#วันนี้เขาบอกว่าฉันเล่นได้ดีมากแต่ฉันคิดว่าโชคช่วยมากกว่า” หรือ “เขาบอกว่าฉันวาดภาพได้สวยมากแต่ฉันว่าน่าจะเกิดจากคุณภาพของสีน้ำช่วยไว้มากกว่า” เป็นต้น ดังนั้น หากจะให้เกิดความภาคภูมิใจต้องบิดความคิดมาให้ความสำคัญกับสิ่งดีดีที่มีอยู่และลดความรู้สึกสำคัญต่อสิ่งแย่ๆที่มีอยู่นั้นลง เช่น “#เขาชมว่าวันนี้ฉันเล่นได้ดีมากๆฉันภูมิใจจังเลย” เป็นต้น

การแปลความหมายสถานการณ์ให้รุนแรงสุดขีด

การคิดและให้ความหมายต่อสถานการณ์ในทางลบที่รุนแรงสุดขีดนี้ จะส่งผลให้เกิดความคิดวิตกกังวลฟุ้งซ่านและไร้พลังใจ เช่น เมื่อพบเหตุการณ์ผิดพลาดเพียงนิดหน่อยก็โวยวายขึ้นว่า “#ตายแน่ตายแน่ถ้างานออกมาเป็นเช่นนี้ฉันต้องตายแน่แน่เลย” ซึ่งเป็นการขยายความคิดและความรู้สึกในสิ่งที่เย่เย่ให้ใหญ่โตยิ่งขึ้นจะส่งผลให้วิตกกังวลและพลังใจตกต่ำได้ ดังนั้นควรบิดเบือนความคิดเช่นนี้ด้วยการย่อสิ่งที่เย่ๆให้เป็นเรื่องเล็กๆอย่าไปขยายให้ใหญ่โต เช่น “#เรื่องเล็กๆนิดเดียวแค่นี้แก้ไขได้เสมอเราช่วยกันหาทางปรับปรุงแก้ไขได้ครับ” เป็นต้น

การใช้ความรู้สึกตัดสิน

การคิดบิดเบือนที่ใช้ความรู้สึกตัดสินเช่นนี้ จะส่งผลให้ไร้ความสมเหตุผลและอาจไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง จึงมักจะส่งผลให้ผู้ที่คิดเช่นนี้รู้สึกลบต่อตนเองและผู้อื่นจนส่งผลให้ตนเองวิตกกังวลและไร้พลังใจ เช่น คิดและรู้สึกว่าตนเองทำงานหนักมากๆเมื่ออยู่ในที่ทำงานมักจะบ่นว่า “#มีงานอะไรเข้ามาก็ต้องเป็นฉันทำจนล้นมือเหนื่อยมากๆเลย” แต่พอให้แยกแยะการทำงานให้เห็นโดยละเอียดกับระยะเวลาที่ใช้ทำงานกลับพบว่าทำงานน้อยกว่าคนอื่นด้วยซ้ำในที่ทำงานเดียวกัน เป็นต้น การจะบิดความคิดเช่นนี้ให้เป็นคิดบวกต้องพิจารณาสิ่งต่างๆด้วยความเป็นจริงอย่างสมเหตุผลและมีหลักฐานเชิงประจักษ์จะช่วยลดการคิดด้วยการใช้อารมณ์ได้เป็นอย่างดี

วามคิดที่บิดเบือนทั้งห้าประการดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราไร้พลังใจจนเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการบิดความคิดจากความคิดที่บิดเบือนดังกล่าวให้มาเป็นความคิดบวกเพื่อเพิ่มพลังใจ ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายผ่านมา และหากถามว่าถ้าจะต้องเลือกใช้วิธีคิดและวิธีการสั้นๆบางอย่างแล้วส่งผลให้คลี่คลายความคิดที่บิดเบือนทั้งห้าประการให้กลายเป็นความคิดบวกได้นั้นจะทำอย่างไร คำตอบคือ #ควรค้นหาคุณค่าและความดีงามของทั้งตนเองและผู้อื่นแล้วนำมาชื่นชมซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยคลี่คลายความคิดบิดเบือนเหล่านั้นให้เป็นการคิดบวกได้เป็นอย่างดี

และหากต้องการปรับความคิดด้วยวิธีการที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น โดยปฏิบัติตามแนวทางแห่งพุทธจิตวิทยาก็คือการคิดแบบไม่คิดหรือไม่คิดปรุงแต่งความคิดใดใดทั้งสิ้น ไม่ว่าคิดบวกหรือคิดลบจนนำมาสู่ความมีจิตสงบและพบธรรมในที่สุดนั้นคือการเจริญสติปัฏฐานสี่นั่นเอง

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาบุคลากรด้วยสหศาสตร์, ประธานสถาบันพัฒนาบุคลากรและบุคลิกภาพ Wuttipong Academy Bangkok และกรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts