ชีวิตที่ขาดสัมปชัญญะดั่งพาหนะที่ขาดเบรก

คนส่วนใหญ่มักจะให้ข้อคิดแก่กันว่า “ทำสิ่งใดๆขอให้มีสติกันนะครับ” ไม่ค่อยพบใครๆให้ข้อคิดแก่กันว่า “ทำสิ่งใดๆขอให้มีสัมปชัญญะนะครับ” ทั้งนี้คำว่า..สัมปชัญญะมักเป็นคำที่ต่อมาจากคำว่าสติ นั่นคือคำว่า”สติสัมปชัญญะ”นั่นเอง และคนส่วนใหญ่ก็มักจะพร่ำสอนกันแต่ให้สติๆที่แท้จริงปลายทางในทางธรรมนั้น เราต้องการพัฒนาให้เกิด”สัมปชัญญะ”ต่างหากคือการรู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งความรู้ตัวทั่วพร้อมนี้ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้หรือปัญญาทางโลกที่ดียิ่งอีกด้วย

วิชาญาณวิทยาในสาขาปรัชญากล่าวถึงแหล่งที่ทำให้เกิดความรู้ไว้สามแห่งคือ1)#สุตมยปัญญา คือความรู้อันเกิดจากการจำได้หมายรู้สิ่งต่างๆ 2) #จินตมยปัญญา คือความรู้อันเกิดจากการคิดทุกรูปแบบโดยเฉพาะการคิดแบบวิเคราะห์และสังเคราะห์ซึ่งเป็นวิธีการแสวงหาความรู้ที่เชื่อว่าเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดก็คือการวิจัยนั่นเอง 3)#ภาวนามยปัญญา คือความรู้ที่เกิดขึ้นหรือผุดขึ้นในภาวะที่จิตนิ่งแน่วแน่และสงบ โดยเฉพาะความรู้ตัวทั่วพร้อม(สัมปชัญญะ)ซึ่งเป็นความรู้ในระดับปรมัตถธรรมที่น้อมนำสู่ความสุขและสำเร็จในชีวิตได้อย่างแท้จริง

#สัมปชัญญะแปลว่าความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นส่วนของปัญญา

ารขาดความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นเหตุแห่งมิจฉาทิฏฐิทุกรูปแบบ เช่น เมื่อขาดความรู้ตัวทั่วพร้อมเรื่องความอยากได้ใคร่มี ก็จะทำทุกกลวิธีเพื่อให้ได้ตามความอยากนั้นๆของตน แม้อาจต้องคดโกงหรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นก็ตาม หรือขาดความรู้ตัวทั่วพร้อมว่าตนเองกำลังรู้สึกโกรธเกลียดก็จะระบายอารมณ์และแสดงออกมาในเชิงข่มเหงทำลายสิ่งของและทำร้ายผู้อื่นตามอารมณ์นั้นๆ ทั้งทางวาจาและการกระทำ ซึ่งก็มีให้เห็นในชีวิตประจำวันมากมายทั้งทางสื่อสังคมออนไลน์และออฟไลน์ เช่นขับรถยนต์ปาดหน้ากันต่างก็โมโหหาเรื่องกันรุณแรงจนชักปืนออกมายิงเป็นต้น

สัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมนี้ สามารถพัฒนาในชีวิตประจำวันได้ด้วยการฝึกเจริญสติปัฏฐานสี่ตามแนวพุทธปรัชญา นั่นคือมั่นรับรู้อาการของกายของจิตและอารมณ์อย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวันเช่น ปวดก็มุ่งรับรู้ว่าปวด โกรธก็มุ่งรับรู้ทันจิตที่โกรธ เศร้าก็มุ่งรับรู้ทันจิตที่เศร้า กังวลก็มุ่งรับรู้ว่าจิตกังวล เป็นต้น การคิดและกระทำเช่นนี้จะช่วยตัดอารมณ์ต่างๆได้ ทั้งยังทำให้เกิดสัมปชัญญะคือการรู้ตัวทั่วพร้อมและส่งผลให้เกิดความข่มใจ(ทมะ),ความยับยั้งชั่งใจ(สัญญมะ) ไม่คิดและกระทำการใดๆในทางเสื่อมทั้งต่อตนเองและผู้อื่นตลอดถึงสังคมโดยรวม

กล่าวโดยสรุป สัมปชัญญะแปลว่าความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นส่วนของปัญญา สติเป็นเพียงเครื่องมือพัฒนาให้เกิดสัมปชัญญะเท่านั้น เมื่อคนเรารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ จะไม่พลั้งเผลอไปสู่มายาและทำชั่วใดๆ จะรู้ตัวทั่วพร้อมด้วยความรวดเร็วว่า ตนเองกำลังรู้สึกโกรธ,เกลียด,เครียดแค้น,เศร้าหมอง,ตรอมใจและความรู้สึกใดๆทั้งมวลที่เกิดขึ้นในจิต เมื่อมโนกรรมเป็นตัวรู้ วจีกรรมและกายกรรมก็จะไม่สื่อสารและกระทำการใดๆตามใจที่ตนรู้สึกเพราะมี #สัมปชัญญะเป็นเบรก ประจำอยู่ในใจนั่นเอง

นอกจากนี้ผู้ที่มีสัมปชัญญะคือมีความรู้ตัวทั่วพร้อมจนเกิดการข่มใจและยับยั้งชั่งใจได้ ไม่แสดงวาจาและกิริยาใดๆที่ไร้มารยาทและทำลายมิตรภาพตลอดจนไม่ข่มเหงรังแกดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น ในทางสุขภาพจิตคือคุณสมบัติเด่นประการหนึ่งของผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวดีนั่นเอง

ชีวิตที่ขาดสัมปชัญญะดั่งพาหนะที่ขาดเบรก

สติสัมปชัญญะแม้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติได้ก็จริงอยู่ แต่สติที่ได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นตามแนวสติปัฏฐาน4 จะช่วยให้เกิดสัมปชัญญะหรือปัญญาที่รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ทุกขณะจิตได้ดียิ่งขึ้น เป็นปัญญาญาณที่เกิดจากการเจริญภาวนา ซึ่งยิ่งใหญ่และลึกซึ้งกว่าปัญญาทางโลกใดๆอันเกิดจากการคิดแบบวิเคราะห์และสังเคราะห์ทุกรูปแบบนั่นเอง ดังนั้นมักจะพบบุคคลต่างๆในสังคมทั้งสายวิชาชีพและวิชาการทั้งสมณะเพศและฆราวาสที่ไร้การเจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ มักจะขาดสัมปชัญญะ นั่นคือเมื่อถูกโลกธรรม8ทั้งฝ่ายพึงใจและไม่พึงใจเข้ามารุมเร้าแล้ว มักจะตัดสินใจกระทำการบางอย่างที่ขาดสติสัมปชัญญะและตกม้าตายในที่สุด

แล้ววันนี้ทุกท่านได้เรียนรู้วิธีการพัฒนาสติเพื่อให้เกิดสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมหรือปัญญาญาณที่ลึกซึ้งกันแล้วหรือยัง?

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบสหศาสตร์, ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok, กรรมการบริหารและประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง, Best Practice Award 2017 สาขาวรรณกรรมเพื่อส่งเสริมสังคม

Recommended Posts