“แดง น้ามีบทความที่เขียนไว้นานแล้วเรื่องพลาโตนิคเลิฟและอยากจะมอบให้แดง” โอ้ !ขอบพระคุณมากครับน้า” ผู้เขียนรับมาด้วยความขอบพระคุณและยินดียิ่ง เมื่อนำบทความดังกล่าวมาอ่านอย่างใคร่ครวญที่บ้าน ยิ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งและศรัทธาในน้าสะใภ้อย่างเปี่ยมล้นใจยิ่งขึ้น และทำให้หวลคิดถึงคำสอนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่เขียนไว้ว่า “คนทำความดีอย่างแท้จริงเสียสละได้แม้กระทั่งการที่จะให้คนอื่นรู้ว่าตนได้ทำความดี” และน้าสะใภ้ของผมก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ นั่นคือ ตลอดเวลา50ปี ท่านปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ทางสื่อสารมวลรายการต่างๆตลอดมา ด้วยเพราะความรักที่เป็นความดีอย่างแท้จริงมิได้อิงการอยากเด่นดัง แต่อย่างใด
“ฉันจำได้ว่าวันนั้นฝนตกปลอยๆ อาจารย์ฝรั่งผู้ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากต่างประเทศมาชวนฉันและเพื่อนๆไปเยี่ยมรุ่นพี่รัฐศาสตร์สาขาการปกครองคนหนึ่งซึ่งเรียนอยู่ปีสี่ ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการไปออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทในภาคอีสาน ซึ่งนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นฉันก็ได้ไปเยี่ยมพี่เขาบ่อยๆพร้อมทั้งมีหนังสือต่างๆไปฝาก พี่เขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือเช่นเดียวกับฉัน ทั้งยังบอกฉันว่าการอ่านหนังสือทำให้เรามีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกได้มากมาย ตลอดจนรับรู้การเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของสังคมได้เป็นอย่างดี
การเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริงนั้น ควรให้คุณค่าที่สติปัญญาและคุณงามความดีจากภายใน
ฉั นและพี่เขาต่างก็เป็นนักศึกษารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนังสือส่วนใหญ่ที่เราชอบอ่านจึงเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองเศรษฐกิจและสังคมแทบทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งนวนิยายก็ยังต้องอ่านนวนิยายทางการเมืองเช่นกัน เราทั้งสองติดต่อกันมาเรื่อยๆ ในขณะที่พี่เขาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชสองปีกว่า จนกระทั่งพี่เขาต้องเดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดลำพูนในปีพศ.2512 และแพทย์ได้วินิจฉัยว่าพี่เขาจะเดินไม่ได้ไปตลอดชีวิต ดังนั้นตั้งแต่แรกพบจนครบ50ปีในปีนี้ ฉันจึงไม่เคยเห็นพี่เขาเดินได้เลย นอกจากนั่งล้อเข็นและนอนเท่านั้นเอง
แต่สิ่งที่ฉันได้เห็นพี่เขาตลอดมาคือการเดินทางของความคิดและปัญญาตลอดจนภาวะผู้นำที่โดดเด่น ชนิดที่ความพิการก็ไม่อาจฉุดรั้งความศรัทธาที่ฉันและเพื่อนหรือใครๆได้เห็นในตัวพี่เขาไว้ได้เลย และทำให้ฉันได้พบว่า ความรักและศรัทธาในใครบางคนนั้นเป็นปรัชญาชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้ฉันรักและศรัทธาพี่เขาเฉกเช่นพี่ชายร่วมสายโลหิตของฉันทั้งสามคนเช่นกัน และภายหลังจากที่พี่ชายของฉันแยกออกไปแต่งงานและมีครอบครัวแล้ว ฉันจึงเหลือพี่เขานี่แหละที่ฉันสนทนาและปรึกษาได้ทุกเรื่องในชีวิต
ความสัมพันธ์ของฉันและพี่เขาพัฒนามาด้วยความรักและศรัทธาขึ้นเรื่อยๆแม้ระยะแรกที่ฉันทำงานเป็นครูอยู่ที่กรุงเทพ เมื่อปิดเทอมทุกครั้งฉันและเพื่อนๆก็จะมาเยี่ยมพี่เขาเป็นประจำที่จังหวัดลำพูน จนกระทั่งปีพศ.2519พ่อของพี่เขาเสียชีวิตอย่างกระทันหัน ฉันจึงตัดสินใจลาออกจากงานที่กรุงเทพและมาทำงานเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่เชียงใหม่และใช้ชีวิตอยู่กับพี่เขาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
5 0 ปีที่ฉันและพี่เขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ฉันได้อยู่กับสุภาพบุรุษผู้ใจดีมีรอยยิ้มและเปี่ยมด้วยปัญญา ถึงแม้พี่เขาจะพิการเดินไม่ได้ แต่สิ่งที่ฉันรับรู้ตลอดมาคือหัวใจและความศรัทธาที่เรามีต่อกัน ไม่เคยพิการไปจากใจของเราเลย แต่กลับเบ่งบานทวีคูณยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้ฉันหวลคิดถึงรูปแบบความรักที่บริสุทธิ์ของนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ของโลกท่านหนึ่งนั่นคือพลาโต้(plato)และได้สำผัสกับคำว่า platonic love ได้อย่างแท้จริงในชีวิตของฉัน”
นั่นเป็นส่วนหนึ่งของบทบันทึกชีวิตที่น้าสะใภ้วัยเจ็ดสิบปี หยิบยื่นให้ผู้เขียนในวันที่ไปรดน้ำดำหัวช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ทั้งน้าของผู้เขียนและน้าสะใภ้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เขียนและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทุกคนตลอดมา ทั้งด้านการศึกษาและปรัชญาในการดำเนินชีวิต ที่แสดงให้หลานๆเห็นว่าการเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริงนั้น ควรให้คุณค่าที่สติปัญญาและคุณงามความดีจากภายในมิใช่มองที่ความสมบูรณ์แบบโดยสมมุติสัจจะด้านร่างกายภายนอก
นอกจากนั้นผู้เขียนยังได้เห็นปรัชญาและตำราเคลื่อนที่เชิงพฤตินัยที่ใช่มีเขียนไว้ในหนังสือเท่านั้น นั่นคือทฤษฏีสามเหลี่ยมแห่งความรัก ของโรเบิร์ตสเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg 1986) ที่อธิบายไว้ว่าการครองรักที่ยั่งยืนนั้นต้องประกอบด้วยสามเหลี่ยมด้านเท่า คือ 1)ความศรัทธาหลงใหล 2)ความสนิทสนมและ 3)การมีพันธสัญญาต่อกัน ทั้งยังได้เห็นความลงตัวของความรักที่บริสุทธิ์ที่เรียกว่า platonic love ที่ได้แปลงให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นความรักเชิงปฏิบัติได้อย่างแท้จริงซึ่งเรียกว่า pragmatic love นั่นคือการดูแลเอาใจใส่และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความรักความศรัทธาของน้าทั้งสองของผู้เขียนนั่นเอง
ดังนั้นการไป รดน้ำดำหัวน้าของผู้เขียนในครั้งนี้ จึงใช่เป็นเพียงพิธีกรรมตามประเพณีเท่านั้น หากแต่เป็นการสำนึกรู้คุณในวิถีการดำเนินชีวิตและคุณงามความดีของน้าทั้งสองท่านอย่างยิ่งยวดจนเกิดความซาบซึ้งใจจากการประพฤติหนึ่งในมงคล 38 คือ บูชาบุคคลที่ควรบูชา (ปูชา จ ปูชนียนํ) ซึ่งจะเป็นมงคลทั้งต่อผู้ให้และผู้รับ ทั้งยังทำให้ผู้เขียนได้ประจักษ์ด้วยสมองซีกขวาว่า แท้จริง ความรักความศรัทธาและการกตัญญูกตเวทิตา ต่างก็เป็นคุณธรรมที่สูงส่งแนบเนื่องต่อกันมาอย่างไม่ขาดสายนั่นเอง