ร ะยะนี้กระแสสังคมกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับข่าวผู้หญิงฆ่าหั่นศพกันอย่างมาก ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากผู้ลงมือฆ่าเป็นทีมหญิงสาวสวยนั่นเอง เหตุการณ์ทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วมากมาย ทั้งฆ่าแล้วหั่นออกเป็นท่อนๆจากฆาตกรฝีมือชำนาญหรือหั่นแบบขอไปทีก็มีให้เห็นเป็นระยะๆ แต่ประเด็นสำคัญที่สังคมควรให้ความสนใจอย่างยิ่งยวดนั้นควรจะสนใจไปที่ “ไม่ว่าเป็นใครเพศใดวัยใดฆ่าแล้วหั่นศพหรือฆ่าแล้วไม่หั่นก็ไม่ควรทำกันทั้งนั้น” เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นศิลปกรรมอันล้ำค่าทางธรรมชาติของโลกและจักรวาลด้วยกันทั้งสิ้น การฆ่าผู้อื่นนั้นผิดทั้งศีลผิดทั้งธรรม
❈ ผิดศีลคือ ผิดต่อกฎเกณฑ์ต่างๆทั้งทางศาสนาและทางสังคมรวมถึงกฎหมายบ้านเมือง
❈ ผิดธรรมคือ ผิดไปจากความรู้สึกฝ่ายดีงามทั้งปวงที่มนุษย์พึงมีต่อกัน
หากมองจากมุมมองของนักสุขภาพจิตและนักการศาสนาปรัชญาก็นับว่าน่าสงสารและน่าเห็นใจทุกๆคนที่ร่วมชะตากรรมกันมาอย่างไม่จบสิ้น ด้วยการเป็นศัตรูคู่อาฆาตจนถึงขั้นลงมือทำร้ายและเข่นฆ่ากัน นั่นเป็นปรากฏการณ์ของผลลัพธ์หรือเป็นปลายเหตุเท่านั่นเอง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าเขาเหล่านั้นเกิดปัญหาด้านบุคลิกภาพแปรปรวนรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะแบบก้าวร้าว(aggressive)และแบบต่อต้านสังคม(antisocial) จนอาจถึงขั้นป่วยทางจิตเวชก็เป็นได้ ซึ่งเขาเหล่านั้นควรได้รับการแก้ไขและรักษาเยียวยาทั้งทางโลกและทางธรรมมาแต่แรก
ก็เพราะขาดการป้องกันและรักษาเยียวยาไงครับ ผลจึงออกมาเป็นเช่นนี้ และเชื่อว่ายังมีผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้อยู่อีกไม่น้อยที่รอเพียงแค่ปัจจัยกระตุ้นที่รุนแรงสำหรับเขาเท่านั้น และบางทีคนเหล่านั้นอาจกำลังอยู่ใกล้ชิดกับคุณอยู่ก็เป็นได้ หากมองในระดับจิตวิทยา ก็มักอธิบายกันว่าสาเหตุน่าจะเกิดจาก
๑. ปัจจัยภายในสมอง
๒. บุคลิกภาพพื้นฐาน
๓.ความสัมพันธ์ในครอบครัว
๔.วิธีการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอบายมุขทั้งหลายและเกิด
การขัดผลประโยชน์ จึงเป็นเหตุให้ทำร้ายกันจนถึงแก่ชีวิต แต่หากอธิบายทางธรรมหรือพุทธจิตวิทยา ก็น่าจะเป็นเพราะโทสะจริตที่รุนแรงจนถึงขั้นอาฆาตพยาบาทและทำร้ายกันนั่นเอง และหากอธิบายในระดับอภิปรัชญา (metaphysic)ก็น่าจะเป็นเพราะดวงจิตเหล่านั้นสะสมโทสะจริตและความอาฆาตพยาบาทที่มีต่อกันไว้ในภวังคจิตแบบข้ามภพข้ามชาติกันมา จึงเป็นเหตุให้ฆ่ากันไป ฆ่ากันมา อย่างไม่มีวันจบสิ้นนั่นเอง
แนวทางป้องกันและแก้ไขคือ
๑.สร้างครอบครัวอบอุ่น
๒.ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันด้วยประการทั้งปวงทุกเพศทุกวัยทั้งสมาชิกในครอบครัว,สถานศึกษา และทุกสถาบันทางสังคมทุกแห่งทุกอย่าง
๓.หลีกเลียงและกำจัดแหล่งอบายมุขทุกชนิดโดยเฉพาะสิ่งเสพติดและการพนัน
๔.ฝึกฝนการรักษาศีลและเจริญสติอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วัยเด็กเป็นต้นมา
๕. ฝึกความมีจิตอาสาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่อย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกพื้นที่
เพราะการฝึกให้ลงมือทำงานจิตอาสานั้น คือการแปลงคุณธรรมด้านความเมตตากรุณามุทิตาและความรักให้เป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรมนั่นเอง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการปรับความคิดและพฤติกรรม(cognitive behavioral therapy:cbt) ในสังคมนั่นเอง (ส่วนรายละเอียดทั้งห้าข้อดังกล่าวว่าจะทำอย่างไรและระดับใดและมีทฤษฏีใดรองรับนั้นต้องใช้พื้นที่และเวลาสนทนากันมากกว่านี้)
หากทุกคนในสังคมร่วมกันป้องกันด้วยวิธีการทั้งห้าข้อดังกล่าวอย่างเต็มกำลังทุกภาคส่วนแล้ว เชื่อว่าสังคมแห่งความเมตตากรุณาและเข้าใจเห็นใจกันและกันจะเพิ่มพูนขึ้น ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่างๆในสังคมก็จะลดลง หากไม่เชื่อก็ลองไปสัมภาษณ์นักโทษคดีฆ่าผู้อื่นดูซิครับ แล้วท่านจะพบว่าความเข้าใจเห็นใจและความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นตลอดจนความยับยั้งชั่งใจนั้นมีน้อยเหลือเกิน ในชีวิตเขาเหล่านั้นมักไม่เคยเข้าวัดเข้าโบสถ์ไม่เคยทำบุญไม่เคยเจริญสติเจริญสมาธิหรืออธิษฐานใดๆทั้งสิ้น ดังเช่นนักโทษชายแดนประหารคนหนึ่งเล่าว่า “ในชีวิตพึ่งจะเคยนั่งฟังพระเทศนาธรรมก็ตอนที่อยู่ในแดนประหารนี้เอง” และเขาเหล่านั้นมักไม่ตระหนักว่าคุณธรรมจริยธรรมคืออะไรและเป็นอย่างไร บางคนพบแต่ความเป็นอันพาลเต็มร้อยซึ่งศัพท์ทางจิตเวชเรียกว่าpsychopathนั่นเอง
เราทุกคนควรหันมาสนใจข่าวทำนองนี้ด้วยการรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ใช่เพียงแต่ตื่นเต้นในปรากฏการณ์แล้วด่าทอและประณามหยามเหยียดกันเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดของเราเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งฝ่ายกระทำและฝ่ายที่ถูกกระทำ ดังนั้นเพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมจริงจังและจริงใจพึงมาร่วมกันปฏิบัติการณ์ห้าข้อดังกล่าวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แล้วสังคมไทยก็จะสงบสุขขึ้นแน่นอน
วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์
นักส่งเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ wuttipong academy bangkok และกรรมการบริหารมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาบาลสวนปรุง