มุมมองดีดีที่อยู่บ้านเพื่อป้องกันโควิดนายทีน

covid

หลายคนสื่อสารมาถึงผู้เขียนว่ารู้สึกเครียดมากที่อยู่บ้าน เพราะโดยปกติก็ไม่ค่อยอยู่บ้านอยู่แล้ว การต้องมาเก็บตัวอยู่บ้านจึงรู้สึกเครียด และถามว่า”จะทำอย่างไรดี” ผู้เขียนก็ตอบไปว่า “ในทางสุขภาพจิตเราไม่มุ่งเปลี่ยนสถานการณ์แต่มุ่งเปลี่ยนที่ความคิดและมุมมอง”โดยชวนมองว่าสถานการณ์โควิดนายทีนที่ระบาดและเราต้องอยู่บ้านนี้มีข้อดีอะไรในนั้นบ้าง ผู้เขียนจึงชวนมองสิ่งดีๆในสถานการณ์ดังกล่าวดังนี้

1)#เป็นการฝึกอยู่กับตนเอง การฝึกอยู่กับตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญในทางธรรมะมากเพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ เกิดมาก็จะมีแต่สิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นสนองให้เกิดความพึงพอใจต่างๆนาๆ แต่การฝึกอยู่กับตัวเองและมองเข้ามาที่ตัวเองนั้นมักไม่ค่อยได้ฝึกกัน นอกจากในกลุ่มของนักบวช เพราะฉะนั้นในโอกาสเก็บตัวอยู่บ้านครั้งนี้ก็ควรใช้เวลาดังกล่าวฝึกอยู่กับตัวเอง โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชน ควรฝึกดูลมหายใจเข้าออก เจริญภาวนาและเดินจงกรมอยู่ในบ้าน บริโภคอาหารแต่พอประมาณ เป็นการเจริญกรรมฐานอยู่ในบ้านหนึ่งเดือนพอดี กระทั่งช่วยให้ได้ตระหนักรู้การอยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง ได้เป็นอย่างดี

2)#เดือนเมษายนปีนี้ถือว่าเป็นเดือนแห่งครอบครัวโดยแท้จริง เพราะปกติทุกปีจะมีวันครอบครัวเฉพาะวันที่ 13 เมษายนเท่านั้น แต่ปีนี้ทุกคนต้องเก็บตัวอยู่บ้านตลอดทั้งเดือน เพราะฉะนั้นก็มองว่าเป็นเดือนแห่งครอบครัว จะได้มีโอกาสสนทนาปรับสุขปรับทุกข์ต่อกันมากมายและลึกซึ้ง ที่ผ่านมาหลายคนอาจไม่ได้อยู่กับครอบครัวเลยหรืออยู่แต่ก็พูดกันน้อยมาก จากประสบการณ์ผู้เขียนพบว่าบางครอบครัวพ่อแม่ไม่มีเวลาคุยกับลูกเลย บางอาทิตย์ได้คุยกันแค่ 10 นาทีก็มี เพราะฉะนั้นเดือนเมษายนที่เก็บตัวอยู่บ้านนี้ ก็ให้ถือโอกาสนั่งสนทนาพูดคุยกันทดแทนที่ไม่ได้คุยกันมาหลาย 10 ปีก็จะดีไม่น้อย

3)#เป็นเดือนแห่งการเรียนรู้ เมื่อจะเก็บตัวอยู่บ้านตลอดทั้งเดือนเมษายน ก็ให้ใช้โอกาสนี้ในการศึกษาร่ำเรียนต่างๆในสิ่งที่อยากศึกษาแต่ไม่มีโอกาสไปศึกษาในช่วงที่ผ่านมา เช่นศึกษางานศิลป ศาสนา ประวัติศาสตร์หรือภาษาเป็นต้น เพราะปัจจุบันสามารถเรียนได้จากแอพริเคชันต่างๆ กูเกิลและยูทูป ได้มากมาย ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยโอกาสให้เวลาที่อยู่บ้านหนึ่งเดือนนี้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆที่อยากเรียนรู้และเคยอ้างว่าไม่มีเวลานั่นเอง

4)#คลายเครียดด้วยกิจกรรมนันทนาการและบันเทิงในบ้าน การอยู่บ้านเฉยๆนั้นบางคนอาจรู้สึกว่าเครียดแต่ก็สามารถคลายเครียดได้ด้วยกิจกรรมนันทนาการในบ้าน เช่นออกกำลังกายเบาๆ ทำอาหารรับประทานกันในครอบครัว เล่นเกมส์ต่างๆที่ครอบครัวมีส่วนร่วม หรือเล่นดนตรีร้องรำทำเพลงไปจนถึงดูหนังฟังเพลงในโทรทัศน์ต่างๆร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวนอกจากช่วยคลายเครียดได้แล้ว ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่อาจไม่ได้อยู่ด้วยกันมานานได้อีกด้วย

5)#ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ การที่ทุกคนอยู่แต่ในบ้านนั้นช่วยให้การจราจรไม่แออัดและประหยัดค่านำ้มันรถทั้งยังช่วยลดอุบัติเหตุในท้องถนนได้หลายเท่าจากในช่วงเดือนที่ผ่านอีกด้วย ก็เพราะไม่ต้องเดินทางออกบ้านไปไหนหากไม่จำเป็นจริงๆ เมื่ออยู่บ้านร่างกายก็ใช้พลังงานน้อยก็รับประทานอาหารน้อยไปด้วย และเมื่อไม่ออกไปช็อบปิ้งที่ไหนๆก็ไม่มีสิ่งใดล่อหูล่อตาให้ต้องซื้อของ เป็นการประหยัดเงินไปโดยอัตโนมัติในช่วงเก็บตัวอยู่บ้านนี้เอง

6)#สร้างสัมพันธ์ทางสังคมออนไลน์ เมื่อทุกคนเก็บตัวอยู่ที่บ้านแล้วก็จะมีเวลาว่างมากขึ้นยังสามารถสานสัมพันธ์และสอบถามความสุขความทุกข์ของกลุ่มเพื่อนได้ด้วยการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ทั้งทางไลน์ เฟสบุ๊ค วีแช็ด อินสตาแกรม สามารถเกิดความสัมพันธ์ทางสังคมออนไลน์ในช่วงหนึ่งเดือนที่เก็บตัวนี้ได้ เมื่อมีบทความและคลิปใดๆดีๆที่สร้างพลังใจแก่กันและกันได้ ก็สามารถส่งให้กันได้ และนี้เป็นช่วงของการปรับตัวที่ต้องใช้สังคมออนไลน์เพื่อสร้างและสานสัมพันธ์ต่อกันให้มากขึ้น

7)#หันมาศึกษาธรรมะและศาสนาปรัชญาให้มากขึ้น การแพร่ระบาดของโควิชนายทีนในครั้งนี้ เราควรได้เรียนรู้ว่าการจัดการทางธรรมชาตินั้นมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มนุษย์ไม่อาจเป็นผู้ครอบครองโลกนี้ได้ชั่วกาลนาน โลกจะต้องอยู่อย่างสมดุลย์ และทุกสรรพสิ่งมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดาเช่นเดียวกับการระบาดของโควิดนายทีนก็มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเช่นกัน เราควรรักษาความดีงามและไร้การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน หากเชื่อในอภิปรัชญาก็ขอให้เชื่อเถิดว่าถ้าชีวิตนี้ไม่เคยเบียดเบียนสรรพชีวิตผู้อื่น โควิดก็ไม่มาเบียดเบียนเราเช่นกัน

หากทุกท่านปรับเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ครั้งนี้ ก็จะช่วยลดความเครียดได้ เมื่อความเครียดลดน้อย ภูมิต้านทานร่างกายก็สูงขึ้น ทำให้สุขภาพกายสุขภาพจิตดี และเมื่อทุกคนอยู่กับบ้านไม่เพ่นพ่านไปไหนก็เชื่อว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมโรคโควิดนายทีนให้สงบลงได้โดยเร็ว

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

Recommended Posts