การจัดการเชิงคุณภาพวิถีงานแห่งประชาธิปไตยและสุขภาพใจ

ผมมีนโยบายขอให้ทุกฝ่ายทุกแผนกในหน่วยงานของเราร่วมกันค้นหาปัญหาในฝ่ายและแผนกของตนแล้วเขียนให้ได้มากที่สุด เพื่อรวบรวมส่งไปที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพทุกๆวันและจะสรุปในทุกหนึ่งเดือนว่าแผนกไหนฝ่ายไหนที่ค้นพบปัญหามากที่สุด เราจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านั้น “ นั่นเป็นคำประกาศนโยบายของผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานแห่งหนึ่ง ผลปรากฏว่าเมื่อครบหนึ่งเดือนไร้วี่แววจากฝ่ายหรือแผนกต่างๆที่จะเขียนปัญหาที่ตนเองพบส่งไปยังศูนย์พัฒนาคุณภาพ

mental-health

#เมื่อไร้วี่แววประหนึ่งไร้ความร่วมมือ ผู้อำนวยการจึงเปลี่ยนการสื่อสารรูปแบบใหม่แต่เนื้อหาเดิมนั่นคือ “ผมขอให้ทุกฝ่ายทุกแผนกในองค์กรของเราร่วมกันค้นหาโอกาสพัฒนาที่พวกเราเจอกันอยู่ทุกๆวันเพื่อเราจะได้นำมาพัฒนางานของเราให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในรอบหนึ่งเดือนหากฝ่ายและแผนกใดค้นพบโอกาสพัฒนาได้มากที่สุดทางหน่วยงานจะมีรางวัลยกย่องเชิดชูให้ครับ” ผลปรากฏว่าเมื่อถึงสิ้นเดือนทุกฝ่ายทุกแผนกต่างรวบรวมการค้นหาโอกาสพัฒนา(ปัญหา)ส่งมายังศูนย์พัฒนาคุณภาพมากมายจนกระทั่งมีการมอบรางวัลกันในที่สุด

#ปัญหาและโอกาสพัฒนาคือสถานการณ์เดียวกัน แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบพบปัญหาและไม่ชอบที่จะให้ใครบอกว่าตัวเองหรือฝ่ายและแผนกของตัวเองมีปัญหา แต่เมื่อเราเปลี่ยนการสื่อสารจากคำว่าค้นพบ”ปัญหา”เป็นคำว่าค้นพบ “โอกาสพัฒนา” ความหมายทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจะเปลี่ยนไปในทางบวกทันที นั่นคือส่งเสริมให้มนุษย์รักการพัฒนา เห็นโอกาสพัฒนาและเห็นการพัฒนาเป็นความงดงามทางวิชาการและวิชาชีพ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการค้นหาโอกาสพัฒนา(ปัญหา)เพื่อนำมาสู่การพัฒนาการทำงานเป็นทีมด้วยรูปแบบของการจัดการเชิงคุณภาพนั่นเอง

#หัวใจสำคัญของการจัดการเชิงคุณภาพนั้น ทีมงานทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ นั่นคือให้คุณค่ากับทีมงานทุกคนว่าเป็นบุคคลสำคัญและมีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น จนพบความสำเร็จในทุกขั้นตอนของการทำงาน กล่าวคือตลอดกระบวนการจะต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์ นั่นคือเริ่มจากร่วมกันค้นหาโอกาสพัฒนา(ปัญหา),ร่วมกันคัดเลือกหัวข้อที่จะนำมาพัฒนาเรียงตามลำดับความสำคัญ,ร่วมกันค้นหาวิธีการพัฒนา,ร่วมกันสร้างเกณฑ์ชี้วัดในการพัฒนา,ร่วมกันทดลองวิธีการพัฒนา,ร่วมกันเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนา,ร่วมกันประเมินผลการพัฒนาและร่วมกันชื่นชมยินดีกับความสำเร็จในการค้นพบสิ่งที่พัฒนา จะเห็นได้ว่าใช้คำว่าร่วมกัน,ร่วมกัน,ร่วมกัน,ร่วมกันทุกขั้นตอนของกระบวนการ

คำว่า”#ร่วมกัน”นั้นสะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยสูง นั่นคือให้เกียรติกับผู้ร่วมงานทุกๆคนว่าเป็นคนมีศักยภาพและสามารถที่จะร่วมมือในการพัฒนางานได้ในทุกขั้นตอน แม้ในรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนผู้ร่วมงานแต่ละคนอาจมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไปแต่ก็ได้รับรู้ร่วมกันตลอดกระบวนการพัฒนา นอกจากนั้นวิธีการดังกล่าวยังเป็นการสร้างความสามัคคีและพัฒนาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในองค์กร ทั้งยังเป็นการฝึกฝนและสร้างบรรยากาศและค่านิยมของการมีส่วนร่วมและการให้เกียรติซึ่งกันและกันในองค์กรอีกด้วย

#ผลของการจัดการเชิงคุณภาพ เมื่อทำสำเร็จแล้ว จะค้นพบระเบียบปฏิบัติ วิธีการ รูปแบบ ขั้นตอนและปัจจัยต่างๆที่เอื้อต่อความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของการทำงานนั้นๆ นั่นคือค้นพบความรู้และความจริงที่สามารถอธิบายและทำนายปรากฏการณ์การทำงานในฝ่ายและแผนกของตนได้ นอกจากนั้นยังนำไปสู่การขยายตลาดวิชาการความรู้อีกด้วยกล่าวคือหากแต่ละฝ่ายแต่ละแผนกมุ่งแก้ปัญหาและสร้างโอกาสพัฒนาในปัญหาเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน เมื่อทำสำเร็จแล้วยังสามารถนำวิธีการของตนมาเทียบเคียงกับผู้อื่นเพื่อสังเคราะห์ให้เป็นความรู้ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

#วิธีการจัดการจัดการเชิงคุณภาพ เริ่มตั้งแต่ทีมร่วมกันค้นหาโอกาสพัฒนาหรือความเสี่ยงหรือปัญหาในงานนั่นเอง จากนั้นนำโอกาสพัฒนาหรือความเสี่ยงหรือปัญหาที่ค้นพบต่างๆมาจัดลำดับความสำคัญและทีมงานร่วมกันตัดสินใจว่าจะเริ่มพัฒนาประเด็นใดก่อนตามลำดับความสำคัญ หรือพัฒนาประเด็นใดพร้อมๆกัน เมื่อร่วมกันคัดเลือกประเด็นที่จะพัฒนาแล้วจากนั้นจึงหาความรู้และวิธีการพัฒนาทั้งความรู้ที่เปิดเผยอยู่แล้วในชุมชนวิชาการแขนงนั้นๆและความรู้จากประสบประการณ์ที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลที่มีความชำนาญและทำงานนั้นๆมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อนำมาจัดทำระเบียบปฏิบัติและขั้นตอนต่างๆของการทำงานใหม่ และร่วมกันสร้างเกณฑ์ชี้วัดวิธีการใหม่ที่สร้างขึ้น เมื่อทุกคนลงมือปฏิบัติตามวิธีการใหม่ก็ให้ร่วมกันเก็บข้อมูลทั้งก่อนและหลังการปฎิบัติเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลและประสิทธิภาพว่าดีขึ้นหรือไม่อย่างไรเพื่อการประเมินผล และหากประสบความสำเร็จก็จะได้วิธีการคุณภาพที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม และหากไม่ประสบความสำเร็จก็สามารถวนกลับไปหาวิธีการพัฒนาใหม่ๆได้ครั้งแล้วครั้งเล่านั่นเอง

#การจัดการเชิงคุณภาพดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยในองค์กร ด้วยการเอื้ออำนวยให้ทีมงานทุกๆคนมีโอกาสร่วมคิด ร่วมค้นหา ร่วมพัฒนา ร่วมประเมินและร่วมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนา ทั้งยังนำมาสู่การหันหน้าปรึกษาหารือกันมากยิ่งกว่าการทำงานในลักษณะการสั่งการจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง และยังส่งเสริมความภาคภูมิใจของทีมงานทุกๆคนได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย กล่าวคือเมื่อพบความสำเร็จก็ร่วมกันภาคภูมิใจ เมื่อค้นพบประเด็นที่ยังไม่สำเร็จก็ร่วมกันค้นหาวิธีการใหม่ไปเรื่อยๆจนสามารถพัฒนาและแก้ปัญหานั้นๆได้ เป็นการให้คุณค่ากับบุคลากรทุกคนว่ามีความรู้ความสามารถมีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญในงานที่ตนเองทำที่สุดมิใช่คนนอกหน่วยงาน

#ด้วยธรรมชาติทางจิตวิทยา มนุษย์ทุกคนต้องการมีศักดิ์ศรี ต้องการความภาคภูมิใจ. ต้องการมิตรภาพและความผูกพัน ต้องการเสรีภาพทางความคิดและต้องการความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัวครอบครัวและหน้าที่การทำงาน ด้วยปรัชญาและวิธีการจัดการเชิงคุณภาพดังที่กล่าวมา เป็นวิธีการที่จะช่วยตอบสนองปัจจัยทางจิตวิทยาของมนุษย์ได้เป็นอย่างดีที่จะช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจและสร้างความรักความสามัคคีต่อกัน ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดไปด้วยสุขภาพใจที่เป็นสุขโดยทั่วกัน

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

</p>

Recommended Posts