การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน

แรงบันดาลใจ (inspiration) เป็นพลังที่ช่วยขับเคลื่อนชีวิตให้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆที่แต่ละคนหวังไว้ และคำว่าแรงบันดาลใจนั้นเป็นคำที่มีความหมายเชิงนามธรรมคล้ายๆกับหลายคำ เช่น แรงจูงใจ พลังใจ กำลังใจ พลังจิต พลังสุขภาพจิต เป็นต้น แต่ในบทความนี้ผู้เขียนใคร่นิยามคำว่า “แรงบันดาลใจ”หมายถึงพลังทางความคิด พลังทางอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลที่ส่งผลให้เกิดพลังในการกระทำใดๆเพื่อขับเคลื่อนชีวิตและการทำงานให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่แต่ละคนตั้งความหวังไว้

inspiration-at-work

อนึ่งการที่ผู้เขียนนิยามว่าหมายถึง พลังทางความคิด พลังทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น ก็เนื่องด้วยแรงบันดาลใจเป็นนามธรรมจากภายในตัวเรา ที่จะส่งผลให้คนเราลงมือกระทำการใดๆอย่างสม่ำเสมอและมุ่งมั่นฝันฝ่าจนประสบความสำเร็จนั่นเอง แรงบันดาลใจต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยการฝึก วิธีคิด วิธีสร้างอารมณ์ความรู้สึก ที่จะส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจหรือพลังใจให้ลงมือทำสิ่งใดๆได้อย่างสม่ำเสมอโดยไม่หยุดยั้ง ทั้งๆที่อาจมีความย่อท้อต่ออุปสรรคบ้างก็ตาม แต่พลังภายในจิตใจนั้นยังส่งผลขับเคลื่อนให้ลงมือทำในสิ่งที่สัมพันธ์กับผลลัพธ์หรือเป้าหมายที่ตนเองวางไว้อย่างไม่หยุดยั้งนั่นเอง

บุคคลที่มีแรงบันดาลใจในการทำงานและการดำรงชีวิต เมื่อทำสิ่งใดหรืออยู่วงการใดก็จะมีผลงานออกมาอย่างโดดเด่นทะลุทะลวงเหนือกว่าบุคคลอื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนวัยใดก็จะทำงานตามวัยของชีวิตจนประสบความสำเร็จได้อย่างดีเยี่ยม เช่นเป็นนักเรียนนักศึกษาก็เรียนหนังสือได้ดีและโดดเด่น เป็นบุคคลที่ทำงานในวิชาชีพต่างๆก็จะมีผลงานออกมาดีเด่นสร้างสรรค์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจนส่งผลให้ได้รับการยอมรับนับถือและเป็นที่ไว้วางใจและได้รับรางวัลต่างๆมากมาย เป็นต้น

ดังนั้นหากจะพูดถึงวิธีการสร้างแรงบันดาลใจในชีวิตและการทำงานในแง่ของวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยาหรือสุขภาพจิตนั้น ย่อมหมายความว่า ต้องมีวิธีคิด วิธีรู้สึกและวิธีการที่มีความเป็นภววิสัย(objective)สูง หมายความว่าใครๆที่คิดเช่นนั้น รู้สึกเช่นนั้นและลงมือทำเช่นนั้น ก็จะเกิดแรงบันดาลใจและได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงได้สังเคราะห์วิธีคิด วิธีสร้างความรู้สึก และวิธีการที่ใครๆก็สามารถนำไปปฏิบัติได้และถึงผลลัพธ์เช่นเดียวกัน โดยมีวิธีการสร้างแรงบันดาลใจ 12 ประการดังต่อไปนี้

1) ทำงานที่ตนเองรักและชื่นชอบ การเลือกทำงานที่ตนเองรักและชื่นชอบนั้นเป็นหัวใจสำคัญพื้นฐานที่จะทำให้คนเรามีความชื่นชมยินดีในงานที่ทำ เพราะเห็นคุณค่าในงานซึ่งจะช่วยให้คนเราอยู่ในอาชีพนั้นๆได้ด้วยความอิ่มเอิบเบิกบานใจ แม้พบปัญหาใดๆในงานบ้างก็จะไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ขุ่นมัว เพราะความชื่นชอบในงานจะช่วยให้มีพลังใจและมองก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆได้ ดังเช่นในปัจจุบันที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายก่อนที่จะเลือกเรียนวิชาชีพใดๆนั้น ทางโรงเรียนเปิดโอกาสให้เข้าไปดูงานในวิชาชีพนั้นๆก่อนว่า ลักษณะงานเป็นเช่นไร เช่น แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ หรืออื่นๆเพื่อให้รู้ว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบลักษณะงานดังกล่าว เพราะความชอบจะทำให้อยู่ในวิชาชีพนั้นได้อย่างยาวนานจนเกิดความชำนาญยิ่งขึ้นเป็นต้น

2) รักและเห็นคุณค่าในงานที่ทำ การสร้างความรู้สึกให้รักและชื่นชอบในงานที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปทำงานในอาชีพใดๆโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบลักษณะงานดังกล่าว แต่เมื่อทำไปแล้วจนเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงอาชีพได้ ดังนั้นถ้าเลือกทำสิ่งใดแล้วต้องมองหาคุณค่าและความหมายที่ดีงามในงานนั้นๆให้ได้ แล้วจิตใจเราจะเป็นสุขด้วยการเห็นคุณค่าในงานที่เราทำ เช่น งานด้านสาธารณสุขมีคุณค่าที่ได้ช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ งานด้านการศึกษาก็มีคุณค่าในการให้ความรู้แก่ประชาชน งานด้านธุรกิจก็มีคุณค่าที่ได้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นต้น

3) ใส่ใจที่ผลลัพธ์จากการทำงาน คำว่าใส่ใจในผลลัพธ์จากการทำงานในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงผลตอบแทนที่จะได้รับทางด้านวัตถุธรรมจากการทำงาน เช่น รายได้ สวัสดิการเพื่อการดำรงชีพ ความมั่งคั่งร่ำรวยในทางธุรกิจ เพราะการได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตนั้นเป็นปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ทุกๆคน หากใส่ใจในผลลัพธ์ที่จะได้รับอย่างชัดเจนแล้วจะช่วยจูงใจและบันดาลใจให้ทุ่มเทในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อแลกกับผลลัพธ์ด้านวัตถุธรรมที่จะได้จากการทำงานต่างๆตามที่ตนเองได้ตั้งใจไว้

4) ทำงานด้วยแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์(achivement) ทฤษฎีทางจิตวิทยานั้นมีแรงจูงใจหลายประการ เช่น แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ แรงจูงใจใฝ่ก้าวร้าว แรงจูงใจใฝ่พึ่งพา แรงจูงใจใฝ่อำนาจ เป็นต้น แต่แรงจูงใจสำคัญที่เกิดจากภายในจิตใจของบุคคลและสัมพันธ์กับแรงบันดาลใจอย่างยิ่งยวดนั้นคือแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์อันหมายถึง ความคิดอารมณ์และความรู้สึกที่เป็นแรงจูงใจจากภายในให้บุคคลทำงานจนประสบความสำเร็จและได้มาตรฐาน ไม่ใช่ทำงานเพื่อหวังสิ่งตอบแทนและสินจ้างรางวัลใดๆ แต่เป็นการทำเพื่อผลความสำเร็จในงานนั้นๆ เพราะเมื่อประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าก็จะจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ให้บุคคลอยากทำงานและพัฒนางานนั้นให้ดียิ่งๆขึ้น

5) มีความภาคภูมิใจในผลลัพธ์(outcome)ของงาน การเกิดความรู้สึกที่ดีมีคุณค่าและเห็นความหมายที่ดีงามในผลลัพธ์ของงานที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นหรือสิ่งอื่นให้มีชีวิตที่ดีขึ้นและพัฒนาได้ดีขึ้น จะช่วยสร้างแรงจูงใจและเกิดแรงบันดาลใจขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการเห็นคุณค่าของผลลัพธ์ของงานที่ตนเองทำ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดๆก็ตามล้วนมีคุณค่าที่ควรภาคภูมิใจทั้งสิ้น เช่นเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ก็ภาคภูมิใจที่ได้ดูแลความปลอดภัยและทรัพย์สินให้กับผู้อื่น เป็นพยาบาลก็มีความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนไข้ให้มีความสุขสบายในชีวิตยิ่งขึ้น ไม่ใช่ใส่ใจที่สิ่งตอบแทนเชิงวัตถุนิยม เป็นต้น

6) ตั้งเป้าหมายในการทำงานว่าจะทำเพื่อใคร การทำงานหรือทำสิ่งใดๆก็ตามหากบุคคลตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนว่าจะทำสิ่งนั้นๆเพื่อใคร จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ลงมือทำงานหรือทำในสิ่งต่างๆที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้เป็นอย่างดีและสม่ำเสมอจนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด เช่น ทำเพื่อสร้างตำนานให้ชีวิตตนเอง พ่อแม่ตั้งใจทำงานเพื่อลูก ลูกตั้งใจเรียนเพื่อพ่อแม่ พ่อเลิกสูบบุหรี่เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดให้ลูก ลูกบวชเพื่อทดแทนบุญคุณให้พ่อแม่ พ่อเลิกดื่มสุราเพื่อตั้งใจเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกชายที่เป็นวัยรุ่น เป็นต้น

7) มีบุคคลต้นแบบที่ดี การแสวงหาบุคคลต้นแบบที่ดีแก่เราหรือเป็นฮีโร่ในสายตาของเรานั้น จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เรามีความตั้งใจทุ่มเทมุ่งมั่นและอยากประสบความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับบุคคลต้นแบบนั้นๆ การมีบุคคลต้นแบบที่ดีนั้นสิ่งสำคัญพึงศึกษาอัตชีวประวัติชีวิต การทำงาน ข้อคิดคำสอนต่างๆของเขาให้รอบด้าน เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองทุกๆวันแม้ในยามที่หมดกำลังใจ กล่าวคือทุกๆวงการหรือทุกๆอาชีพจะมีบุคคลต้นแบบเสมอเช่นวงการพยาบาลก็มีมิสฟลอเรนซ์ในติ่งเกล วงการจิตเวชก็มีนายแพทย์ฟิลิปฟิเนล วงการธุรกิจก็มี แจ็ค หม่า เป็นต้น

8)เปิดโอกาสให้ตนเองเรียนรู้และดูงานอย่างกว้างขวาง การเปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้และออกไปศึกษาดูงานในแวดวงวิชาการและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างความคิดและความรู้สึก”อึดฮึดสู้”จนเกิดแรงบันดาลใจอยากทำสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นในงานของตนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเรียนรู้ดูงานที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆที่เกิดจากงานวิจัยและความคิดสร้างสรรค์จากคนอื่นและองค์กรอื่นจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่เราให้อยากพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น

9) ลงมือทำในสิ่งที่สัมพันธ์กับเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ การลงมือทำในเรื่องใดๆที่สัมพันธ์กับเป้าหมายและผลลัพธ์ที่วางไว้ให้สม่ำเสมอ และมีความใส่ใจในงานที่ทำจะช่วยส่งผลให้ผลงานออกมาดีขึ้นเรื่อยๆและเกิดความรู้สึกภูมิใจในผลงานที่สำเร็จเป็นระยะๆ จนส่งผลให้ถึงผลลัพธ์หรือประสบความสำเร็จในสิ่งที่วางแผนไว้ในที่สุด ดังมีคำพูดเป็นภาษาพื้นๆกันว่า “ทำงานแบบโฟกัสและกัดไม่ปล่อย “ นั่นเอง หากทำได้เช่นนี้ การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้สัมพันธ์กับการเพิ่มกำลังใจหรือแรงบันดาลใจให้กับตนเองได้ยิ่งๆขึ้น

10) สร้างบรรยากาศแห่งการชื่นชมยินดี การสร้างบรรยากาศแห่งการชื่นชมยินดีซึ่งกันและกันในสถานที่ทำงานนั้นเป็นปัจจัยสำคัญด้านจิตวิทยาการสื่อสารเป็นอย่างยิ่ง เพราะการชื่นชมซึ่งกันและกันจะช่วยสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันยิ่งขึ้น เป็นวิธีคิดและวิธีการที่ช่วยสร้างความรู้สึกด้านดีในการการทำงาน สำหรับหลักการชื่นชมนั้นมีวิธีการคือค้นหาความดีของทุกๆคนให้พบมากๆแล้วนำมาชื่นชมกันทีละประเด็นพร้อมบอกหลักฐานของประเด็นที่ชื่นชมนั้นอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยสร้างกำลังใจและแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันได้เป็นอย่างดี

11)เชื่อว่าตนเองเป็นคนดีมีคุณค่าและมีความสามารถ การสร้างความคิดอารมณ์และความรู้สึกที่เห็นคุณค่าของตนเองว่าเป็นคนดีเป็นคนมีคุณค่าและเป็นคนมีความสามารถนั้น เป็นการสื่อสารที่ทำให้เกิดความรู้สึกและความเชื่อด้านดีต่อตนเอง ไม่ดูถูกเหยียดหยามตนเองจะช่วยให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นหลักการของจิตวิทยาเอ็นแอลพี(neuro-linguistics programming)กล่าวคือเมื่อสื่อสารอย่างไรจะได้ความรู้สึกเช่นนั้นส่งผลให้กระทำออกมาเช่นนั้นเช่นกัน ดังนั้นการพูดกับตัวเองสม่ำเสมอทุกวันว่า “ฉันเป็นคนดีฉันมีคุณค่าฉันมีความสามารถ” จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราเป็นอย่างที่เราพูดนั้นได้จริงๆ

12)สร้างแรงบันดาลใจด้วยการเจริญสติและสมาธิ การทำให้จิตใจสงบและมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลานั้น จะช่วยทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่านไม่วิตกกังวลใดๆ จิตใจที่เต็มไปด้วยความคิดและความรู้สึกที่ฟุ้งซ่านวิตกกังวลและขุ่นมัวนั้น เป็นจิตที่ไร้พลังไม่สามารถเกิดแรงบันดาลใจได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับจิตใจที่สงบและเปี่ยมสติสมาธิจะช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจในภาวะที่จิตสงบได้ เกิดความคิดและความรู้ในแบบที่ผุดขึ้นมาเอง(ภาวนามยปัญญา) และเกิดความรู้สึกมีพลังใจ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตและการทำงานมีความมุ่งมั่นฝันฝ่าจนพบความสำเร็จได้ในที่สุด อนึ่งวิธีการเจริญสติและสมาธินั้นมีให้ศึกษาได้อย่างกว้างขวางทั่วไป

หากทุกคนสามารถปฏิบัติตนได้ทั้ง 12 ประการดังที่กล่าวมาอย่างสม่ำเสมอครบถ้วนและสอดคล้องกันทั้ง 12 ข้อดังกล่าว จะช่วยส่งผลให้ความคิดอารมณณ์ความรู้สึกและการกระทำมีพลังจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตและการทำงานได้เป็นอย่างดี คาดหวังหรือตั้งเป้าหมายใดๆไว้ก็จะเดินทางถึงเป้าหมายและสมหวังได้ในที่สุด

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy และกรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts